วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

แนวทางการพัฒนาและสร้างเสริมการเห็นคุณค่าในตนเอง

 แนวทางการพัฒนาและสร้างเสริมการเห็นคุณค่าในตนเอง การเห็นคุณค่าในตนเองเป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้ได้ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และพัฒนาให้เกิดขึ้นได้จากประสบการณ์ที่บุคคลได้รับ มีนักวิชาการได้เสนอแนวทางในการพัฒนาการเห็นคุณค่าในตนเอง ไว้ดังนี้
             Brooks (1992, pp. 544-548) ได้เสนอแนวทางในการพัฒนาการเห็นคุณค่าในตนเองของเด็ก ดังต่อไปนี้
             1. พัฒนาความรับผิดชอบและการให้ความช่วยเหลือต่อส่วนรวม
             2. เปิดโอกาสให้คิดทางเลือกและการตัดสินใจแก้ปัญหา
             3. เสริมสร้างวินัยในตนเองโดยการสร้างแนวปฏิบัติและคำนึงถึงผลที่จะเกิดตามมา
             4. ให้การสนับสนุน สร้างกำลังใจ และให้ข้อมูลย้อนกลับด้านบวก
             5. ช่วยให้เด็กยอมรับในความล้มเหลว หรือความผิดพลาดของตนเอง
             สุพัตรา ทาวงศ์ (2007) กล่าวถึงการพัฒนาคุณค่าในตนเอง ดังต่อไปนี้
             1. การยอมรับความรู้สึกของบุคคลตามความเป็นจริง จะช่วยให้เขาสามารถถ่ายทอดความรู้สึกออกมา โดยเฉพาะการยอมรับความรู้สึกทางลบ ความรู้สึกกลัว ความรู้สึกขัดแย้งและความรู้สึกปฏิเสธของบุคคล เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการแสดงความรู้สึกของบุคคลในขณะนั้น
             2. การยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคลในการเผชิญกับปัญหา และวิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน ควรทำความเข้าใจในวิธีการแก้ปัญหาและให้โอกาสแต่ละบุคคลในการแสดงความสามารถ ในการแก้ปัญหา เนื่องจากบุคคลมีความคิดที่เหมาะสมเฉพาะวัยของเขา และมีความรับผิดชอบต่อปัญหาที่เขาต้องเผชิญอยู่แล้ว นอกจากนี้ การให้โอกาสเขาได้ฝึกเลือกวิธีการแก้ปัญหาเองนั้น จะทำให้บุคคลค้นพบว่า ยังมีวิธีการที่เหมาะสมอีกหลายอย่างที่เขาอาจจะเลือกใช้
             3. ควรหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับบุคคลอย่างกะทันหัน ซึ่งจะทำให้บุคคลเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจ ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ควรแจ้งให้ทราบล่วงหน้าอย่างชัดเจนในทันที และถ้าเป็นไปได้ ไม่ควรให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันเกิดขึ้น
             4. การมีตัวแบบที่ดีและมีประสิทธิภาพในการเผชิญ เนื่องจากตัวแบบมีอิทธิพลต่อความรู้สึกมั่นคงของบุคคล ตัวแบบจึงควรมีความเชื่อมั่น และให้การสนับสนุนบุคคลสามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในการเผชิญปัญหาอย่างมั่น ใจ และให้กำลังใจว่าเขาสามารถที่จะประสบความสำเร็จได้ในการเผชิญปัญหาด้วยตัว เอง
             5. ช่วยให้บุคคลพัฒนาวิธีการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ โดยให้เขาได้ระบายความขุ่นมัว ซึ่งจะเป็นโอกาสให้เขาได้ค่อย ๆ เข้าใจความยุ่งยากในตนเอง ช่วยลดระดับความเครียด จากนั้นบุคคลจะค่อย ๆ ใส่ใจกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตนเอง
             6. ให้ความสำคัญกับการนับถือตนเองของบุคคลนั้น เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งในการที่จะแก้ปัญหา
             7. สนับสนุนให้ผู้ใกล้ชิดมีความรู้ความเข้าใจในตัวบุคคลนั้น และให้ความร่วมมือในการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการที่จะแก้ปัญหา
             สรุปได้ว่า การพัฒนาการเห็นคุณค่าในตนเองสามารถส่งเสริมได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การให้การยอมรับในตนเองให้สอดคล้องกับความจริงของตน การสร้างความมั่นใจในตนเอง การสร้างความรับผิดชอบและความสำเร็จให้เกิดขึ้น และบันทึกความสำเร็จที่ได้รับ ซึ่งในการวิจัยในครั้งนี้ ผู้วิจัยได้นำหลักการการเห็นคุณค่าในตนเองในการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อสร้างให้เกิดความรู้สึกรักและภาคภูมิในสิ่งที่ทำและผลของการกระทำของตน เอง

บรรณานุกรม

เอกสิทธิ์ สนามทอง. ว่าที่ร้อยตรี.  (2552). การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฉันทะทางการเรียนของนักศึกษาสถาบันอุดม ศึกษาเอกชนในเขตกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคำแหง

สุพัตรา ทาวงศ์. (2007). การพัฒนาคุณค่าในตนเอง. ค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2552, จาก http://dllibrary.spu.ac.th:8080/dspace/

Brooks, R. B. (1992). Self-esteem during the school years: Its normal development and hazardous decline. Pediatric Clinics of North America, 39, 537-550

สืบค้นเมื่อ วันที่ 9 สิงหาคม 2554

ที่มา http://www.idis.ru.ac.th

แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตนเอง

  คำว่า “ตัวตน” ในความหมายโดยทั่วไปแล้ว คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ประกอบขึ้นเป็นบุคคล ในทางพระพุทธศาสนา ตัวตนประกอบด้วย จิตและกาย ทั้งสองส่วนทำงานประสานกันโดยจิตเป็นตัวรับสั่งการ กายเป็นส่วนของการปฏิบัติตามคำสั่งของจิต ซึ่งมีคำกล่าวว่า “จิตเป็นกายนายเป็นบ่าว” ดังนั้น ตัวตนจึงเป็นเรื่องของ มโนกรรม วจีกรรมและกายกรรม หากพิจารณาตัวตน ในแง่ของการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ตัวตนปรากฏในหลายลักษณะ คือ การพิจารณาตัวตนตามการรับรู้ของตนเอง ตามที่ตนเองอยากให้เป็นตามการรับรู้ของผู้อื่น ตามที่ผู้อื่นอยากให้เป็น และตามที่เป็นจริง นั่นคือ โครงสร้างตัวตนนั้นเกิดความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันของบุคคลกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเป็นผลมาจากการประเมินสัมพันธภาพกับผู้อื่น ดังที่ Sullivan กล่าวว่า “เด็กเห็นตนเองตามที่ผู้อื่นเห็นเขา” ถ้าเด็กได้รับคำชมบ่อย ๆ ว่า ตั้งใจเรียนและมีความขยันหมั่นเพียร เขาก็จะสร้างตนขึ้นมาว่าเป็นคนตั้งใจเรียน และขยันเรียน แล้วรักษาเอาไว้ในตัวเขา โครงสร้างของตัวตนนี้ คือ แบบของการรับรู้เกี่ยวกับตนเอง (ชูชีพ อ่อนโคกสูง, 2552)
             ดังนั้น ในการพัฒนาตนเองของบุคคลนั้น จะต้องพัฒนาคุณลักษณะที่เกี่ยวข้อง คือ การใช้บรรยากาศที่เอื้อต่อการพัฒนา การเห็นคุณค่าในตนเองของผู้รับการฝึกอบรมการพัฒนาสติปัญญา โดยผ่านกิจกรรมกลุ่มและการสนทนาร่วมกัน ในการจัดกิจกรรมจะต้องคำนึงถึงผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นสำคัญ โดยการจัดระดับการนำตนเองของผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากการนำตนเองระดับน้อย จนถึงการนำตนเองระดับมาก มีรายละเอียดการพัฒนาคุณลักษณะต่าง ๆ
             แนวคิดเกี่ยวกับการเห็นคุณค่าในตนเอง บุคคลที่เห็นคุณค่าในตนเอง สามารถใช้ศักยภาพที่ตนมีอยู่ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งการพัฒนาคุณลักษณะการเห็นคุณค่าในตนเอง จะช่วยให้ผู้รับการฝึกอบรมเกิดความเชื่อมั่นในตนเองที่จะกระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ในกระบวนการฝึกอบรมเป็นส่วนสำคัญสำหรับการพัฒนาฉันทะของบุคคลการเห็นคุณค่า ในตัวเอง (self-esteem) นั้นยังไม่พบว่า มีใครให้หมายถึงที่แน่ชัดนัก แต่ในความคิดนั้น การเห็นคุณค่าในตัวเองนั้น จะหมายถึง บุคคลที่มีภาพพจน์ที่ดีต่อตัวเอง มีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง มีความซื่อสัตย์ มีความภูมิใจในผลสำเร็จของงาน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาและรับผิดชอบ ปัญหาที่จะเกิดตามมา เป็นคนที่คนอื่นรักและรักคนอื่น เป็นบุคคลที่ควบคุมตัวเองเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จได้ เราจะเห็นว่าคนที่มี self-esteem สูง หมายถึง คนที่มีความคิด สร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบสูง และซื่อสัตย์ซึ่งจะตรงกันข้ามกับ คนที่มี self-esteem ต่ำ มักจะต้องการพิสูจน์ตัวเองหรือวิจารณ์คนอื่นใช้คนอื่นเพื่อผลประโยชน์ของตัว เอง บางคนอาจจะหยิ่ง หรือดูถูกผู้อื่น มักจะไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ไม่มั่นใจว่าตัวเอง จะมีคุณค่า หรือความสามารถ หรือการยอมรับ ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่กล้าที่จะทำอะไร เนื่องจากกลัวความล้มเหลว คนกลุ่มนี้มักจะวิจารณ์คนอื่นมากกว่าที่จะกระทำ ด้วยตัวเอง และยังพบอีกว่า คนกลุ่มนี้มักจะชอบความรุนแรง ติดสุรายาเสพติด มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัย คนที่มี self-esteem จะต้องมีความสมดุลของความต้องการผลสำเร็จ หรืออำนาจ และความรู้จักคุณค่า ความมีเกียรติ และความซื่อสัตย์ ซึ่งอาจจะหมายถึงจิตใต้สำนึก และพฤติกรรมนั่นเอง จิตใต้สำนึกของคนที่มี self-esteem จะต้องรู้จักบาปบุญคุณโทษ รู้สิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดี ความซื่อสัตย์ ความมีเกียรติ ส่วนพฤติกรรมของ self-esteem มีความสามารถที่จะคิดแก้ปัญหา เชื่อมั่นในความคิด และความสามารถ ของตัวเอง สามารถ
เลือกวิธีการตัดสินใจที่ถูกต้อง หากสูญเสียความสมดุลก็จะทำให้เกิดปัญหา เช่น หากจิตใต้สำนึกไม่แข็งแรง หรือสมบูรณ์พอ ก็จะทำให้คนเกิดพฤติกรรมเชื่อมั่นตัวเองมากเกินไปหยิ่งยโส ดูถูกคนอื่น หากแต่มีแต่จิตใต้สำนึกที่ดี แต่ไม่มีความมุ่งมั่นที่จะประสบผลสำเร็จชีวิตก็อาจจะไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้ง ไว้ (ชูชีพ อ่อนโคกสูง, 2552)           
             ความหมายของการเห็นคุณค่าในตนเอง การเห็นคุณค่าในตนเอง คือ ความรู้สึกมั่นใจในตนเอง และความพึงพอใจในตนเอง ความรู้สึกนี้เกิดจาก 5 องค์ประกอบ ดังนี้ (ชูชีพ อ่อนโคกสูง, 2552)
             1. ความรู้สึกปลอดภัยทางกาย ได้แก่ รู้สึกปลอดจากภัยที่จะเกิดขึ้นกับกายตนเช่น ไม่ถูกทำร้าย ไม่ถูกทุบตี ไม่ถูกลงโทษทางกาย เป็นต้น ทำให้ไม่รู้สึกหวาดกลัว จึงพัฒนาความรู้สึกมั่นใจในตนเองขึ้น
             2. ความมั่งคงทางอารมณ์ ได้แก่ รู้สึกไม่ถูกลบหลู่ ทำให้ขายหน้า ดูถูกดูหมิ่นได้รับความยุติธรรม เสมอต้นเสมอปลาย
             3. ความมีเอกลักษณ์ ได้แก่ รู้จักและเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง แล้วนำความรู้ความสามารถที่แท้จริงที่มีอยู่นั้น ไปใช้ให้ประสบความสำเร็จ และมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น
             4. ความเป็นเจ้าของ ได้แก่ การยอมรับจากผู้อื่น ทำให้สร้างความสัมพันธ์ใหม่กับผู้อื่นได้อย่างง่ายดาย เริ่มพัฒนาความเป็นอิสระ และการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
             5. ความสามารถ ได้แก่ เชื่อมั่นในความสามารถของตนที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ได้สำเร็จทำให้เกิดความมานะพยายามที่จะเรียน หรือทำสิ่งใหม่จนกว่าจะประสบความสำเร็จและเกิดความเชี่ยวชาญ ความสามารถนี้จำแนกออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่
                5.1 ความสามารถทางวิชาการ
                5.2 ความสามารถทางกีฬา
                5.3 ความสามารถที่ทำให้สังคมยอมรับ
                5.4 ความสามารถในการกระทำหรือการปฏิบัติ
                5.5 ความสามารถทางกายภาพที่ปรากฏ เช่น รูปร่าง หน้าตา ลักษณะท่าทางและอื่น ๆ เป็นต้น
             การเห็นคุณค่าในตนเองของบุคคล จำต้องได้รับการพัฒนามาตั้งแต่เด็ก ๆ โดยทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย ให้มีความมั่นคงทางอารมณ์ ให้สามารถค้นพบเอกลักษณ์ของตนเองปฏิบัติต่อเด็กด้วยความรักความอบอุ่น เชื่อหรือไว้วางใจซึ่งกันและกัน ตลอดจนให้เด็กได้มีโอกาสกระทำสิ่งต่าง ๆ ตามที่เด็กมีความสามารถ เพื่อประสบความสำเร็จในสิ่งที่ทำซึ่งเด็กจะรู้สึกเชื่อมั่นและพึงพอใจในตน เอง คือ เห็นคุณค่าในตนเองได้ในที่สุด (ชูชีพอ่อนโคกสูง, 2552)           
             จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า การเห็นคุณค่าในตนเอง สรุปได้ว่า คือ ความรู้สึกที่บุคคลเห็นคุณค่าในตนเอง หรือมีความภาคภูมิใจในตนเอง ซึ่งได้รับการสั่งสมมาตั้งแต่วัยเด็กจากประสบการณ์ และบุคคลที่ได้ปฏิสัมพันธ์ เช่น ครอบครัว เพื่อน หรือสังคมสภาพแวดล้อมทำให้เราเห็นคุณค่าในตนเองมีระดับสูงขึ้น ซึ่งระดับการเห็นคุณค่าในตนเองสามารถพิจารณาได้จากความสามารถ ความสำเร็จ ความสำคัญ ความเชื่อและความมีคุณค่าในตนเอง อัตมโนทัศน์มีความสัมพันธ์กับความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเอง ความเชื่อมั่นในตนเอง แล้วการนับถือตนเองบุคคลที่เห็นค่าในตนเองสูง จะมีความเชื่อมั่นในตนเอง มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง และยังเข้าใจยอมรับคุณค่าในตัวเองของผู้อื่นด้วย

บรรณานุกรม

เอกสิทธิ์ สนามทอง. ว่าที่ร้อยตรี.  (2552). การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฉันทะทางการเรียนของนักศึกษาสถาบันอุดม ศึกษาเอกชนในเขตกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ชูชีพ อ่อนโคกสูง. (2552). การเห็นคุณค่าในตนเอง: Self-esteem. ค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2552, จาก http://www.swuaa.com/webnew/index.php?option=com_content&view=article&id=188:--self-esteem&catid=56:2009-02-24-06-15-59&Itemid=57

สืบค้นเมื่อ วันที่ 9 สิงหาคม 2554

ที่มา http://www.idis.ru.ac.th

โยนิโสมนสิการกับหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับฉันทะ

         โยนิโสมนสิการกับหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับฉันทะ องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดฉันทะทางบวก หรือกุศลธรรมฉันทะ ก็คือ โยนิโสมนสิการ จัดว่าเป็นองค์ประกอบฝ่ายใน เพราะมาจากปัจจัยภายในตัวบุคคล เป็นแนวคิดที่ใช้ประโยชน์ได้ในทุกเรื่องโดยเฉพาะการดำเนินชีวิตประจำวัน การทำงาน การเรียน เป็นต้น คนที่มีโยนิโสมนสิการจะช่วยตัวเองได้ มีการคิดอย่างถูกวิธี คิดอย่างมีระเบียบ ไม่มองสิ่งต่าง ๆ อย่างผิวเผินรู้จักมอง ทำให้สามารถมองเห็นด้านที่เป็นประโยชน์มาใช้ในการส่งเสริมความเจริญงอกงาม ให้กับตนเอง ผู้อื่นและสังคม ได้มากกว่า (พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต), 2533, หน้า 144)
             โยนิโสมนสิการ จากการแปลรูปศัพท์แล้ว หมายถึง การกระทำในใจโดยแยบคายเมื่อขยายความแล้ว หมายถึง การใช้ความคิดอย่างถูกวิธี เป็นการรู้จักมอง รู้จักพิจารณาสิ่งต่างโดยมองตามที่สิ่งนั้น ๆ ตรงความเป็นจริง และโดยวิธีคิดหาเหตุผลสืบค้นถึงต้นเค้าสืบสาวตลอดสายแยกแยะสิ่งนั้น ๆ หรือปัญหานั้น ๆ ออกให้เห็นตามสภาวะและตามความสัมพันธ์สืบทอดแห่งเหตุปัจจัย โดยไม่เอาความรู้สึกด้านตัณหาเข้าจับ (พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต), 2538, หน้า 621) หรือสามารถสรุปได้ว่า คิดถูกวิธี คิดมีระเบียบ คิดมีเหตุผลคิดเร้ากุศล หน้าที่ของโยนิโสมนสิการ ก็คือ ความคิดที่สกัดอวิชชาตัณหาหรือการคิดเพื่อสกัดไม่ให้อวิชชาและตัณหาเกิด โดยธรรมชาติของปุถุชนทั่วไป เมื่อรับรู้สิ่งใดก็เกิดคิดว่าชอบใจหรือไม่ชอบใจทันที โยนิโสมนสิการจะทำหน้าที่ไม่ให้เกิดขั้นตอนนี้ แต่จะพิจารณา
             ตามสภาวะตามเหตุปัจจัย เป็นตัวนำกระบวนความคิดบริสุทธิ์ คิดอย่างเป็นลำดับ ทำให้เข้าใจความจริง ทำให้เกิดกุศลธรรม วางใจวางท่าที และปฏิบัติต่อสิ่งนั้น ๆ ได้เหมาะสมดีที่สุด โยนิโสมนสิการทำให้คนเป็นผู้ใช้ความคิด นำความคิดนั้นมาแก้ไขปัญหาทำให้เกิดความสุข (พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต), 2542ข, หน้า 29) ดังนั้น คนที่มีโยนิโสมนสิการจะทำให้ทำสิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้องเหมาะสม และโยนิโสมนสิการ กระทำให้ฉันทะที่เกิดขึ้นเป็นฉันทะฝ่ายบวก หรือกุศลธรรมฉันทะ มีความรักในงานที่ทำ เมื่อรับรู้สิ่งใดก็คิดพิจารณา
             ตามเหตุปัจจัย มีความพอใจในผลที่มาจากกระทำที่ถูกต้อง มีความใฝ่รู้ใฝ่ดี ทำให้เป็นบุคคลที่พึ่งตนเองและนำตนเองได้ หรือสามารถที่จะพัฒนาเองได้ต่อไป
แนวความคิดเรื่องโยนิโสมนสิการ มีวิธีการคิดแบบโยนิโสมนสิการ มี 10 วิธี ดังนี้ (พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต), 2542ข, หน้า 30-37)
             1. วิธีคิดแบบสืบสาวปัจจัย คือ การพิจารณาปรากฏการณ์ที่เป็นผลให้รู้จักสภาวะที่เป็นจริง หรือพิจารณาปัญหา หาหนทางแก้ไขด้วยการค้นหาสาเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ที่สัมพันธ์ส่งผลสืบทอดกันมาโดยแนวปฏิบัติ ดังนี้ การคิดแบบปัจจัยสัมพันธ์ คือ สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดขึ้น การคิดแบบสอบสวนหรือตั้งคำถามถึงสาเหตุของสิ่งต่าง ๆ
             2. วิธีคิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ เป็นการคิดที่มุ่งให้มองและให้รู้จักสิ่งต่าง ๆ ทั้งหลายตามสภาวะของมันเอง เช่น พิจารณาบุคคลว่า มีองค์ประกอบที่เรียนว่า ขันธ์ 5 ที่เกิดจากส่วนประกอบอื่น ๆ การคิดเช่นนี้ จะช่วยให้บุคคลเห็นความไม่เที่ยง ไม่คงที่
และไม่ยั่งยืนของสิ่งต่าง ๆ
             3. วิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา คือ การมองอย่างรู้เท่าทันความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายซึ่งจะต้องเป็นอย่างนั้น ๆ ตามธรรมของมันเอง และเป็นไปตามเหตุปัจจัย อาการที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นจากปัจจัยปรุงแต่ง โดยที่บุคคลยึดติดอนัตตา
             4. วิธีคิดแบบแก้ปัญหา คือ เรียกอีกอย่างว่า วิธีแห่งความดับทุกข์ เป็นวิธีที่สามารถขยายได้ครอบคลุมวิธีคิดแบบอื่น ๆ ทั้งหมด วิธีคิดแบบแก้ปัญหามีลักษณะทั่วไป 2 ประการคือ เป็นวิธีคิดตามเหตุและผลหรือเป็นไปตามเหตุและผล สืบสาวจากผลไปหาสาเหตุแล้วแก้ไข และทำการที่ต้นเหตุกับเป็นวิธีคิดที่ตรงจุด ตรงเรื่อง ตรงไปตรงมา มุ่งตรงต่อสิ่งที่จะต้องทำ ต้องปฏิบัติ ต้องเกี่ยวข้องกับชีวิต หลักการสำคัญของการคิดแบบแก้ปัญหา คือ การเริ่มต้นจากปัญหาหรือความทุกข์ที่ประสบอยู่ โดยกำหนดรู้และทำความเข้าใจกับ
             ปัญหานั้นให้ชัดเจน แล้วสืบสาวค้นหาสาเหตุ เพื่อเตรียมแก้ไขปัญหาในเวลาเดียวกันกำหนดเป้าหมายของตนให้แน่ชัด ว่าคืออะไร จะเป็นไปได้หรือไม่ และจะเป็นอย่างไรแล้วคิดวางวิธีปฏิบัติที่จะกำจัดสาเหตุของปัญหา โดยสอดคล้องกับการที่จะบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
             5. วิธีคิดแบบสัมพันธ์ตามหลักการกับจุดมุ่งหมาย คือ พิจารณาให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างธรรมกับอรรถ หรือหลักการกับจุดมุ่งหมาย เพื่อเมื่อลงมือปฏิบัติจะได้ทำตามหลักการและจุดมุ่งหมาย โดยไม่ทำอย่างเลื่อนลอยหรืองมงาย
             6. วิธีคิดแบบเห็นคุณโทษและทางออก หรือพิจารณาให้เห็นครบทั้งส่วนดีที่เป็นคุณค่า และส่วนเสียที่เป็นโทษ แล้วภาวะที่ปราศจากปัญหา ซึ่งเป็นวิธีการมองสิ่งต่าง ๆ ทั้งหลายตามความเป็นจริง และเน้นการยอมรับความจริงที่สิ่งนั้น ๆ เป็นอยู่ทุกด้าน เป็นวิธีคิดที่ต่อเนื่อง
             7. วิธีคิดแบบเห็นคุณค่าแท้คุณค่าเทียม คือ การใช้สอยบริโภค หรือวิธีคิดแบบสกัดหรือบรรเทาตัณหา เป็นขั้นฝึกขัดเกลาหรือตัดทางไม่ให้กิเลสเข้ามาครอบงำจิตใจ วิธีคิดแบบนี้ ใช้มากในชีวิตประจำวัน เพราะเกี่ยวข้องกับการใช้ปัจจัย 4 และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สิ่งใดที่สนองความต้องการของเรา สิ่งนั้นย่อมมีคุณค่าแก่เรา คุณค่านี้จำแนกออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
                7.1 คุณค่าแท้ หมายถึง คุณค่า หรือประโยชน์ของสิ่งทั้งหลายที่มนุษย์นำมาใช้แก้ปัญหาของตน เพื่อความดีงาม ความดำรงอยู่ด้วยดีของชีวิต หรือเพื่อประโยชน์สุขทั้งของตนเองและผู้อื่น คุณค่าอาศัยปัญญาเป็นเครื่องมือในการประเมินค่าความเป็นคุณค่าที่แท้
                7.2 คุณค่าเทียมหรือคุณค่าเสริม หมายถึง คุณค่าหรือประโยชน์ของสิ่งทั้งหลายที่มนุษย์พอกเพิ่มให้แก่สิ่งนั้น ๆ เพื่อสนองความต้องการของตนเอง คุณค่าเทียมนี้อาศัยตัณหาเป็นเครื่องวัดความเป็นคุณค่าเทียม
             8. วิธีคิดแบบเร้าคุณธรรม หรือวิธีคิดแบบเร้ากุศลหรือเร้าคุณธรรม เป็นวิธีคิดในแนวสกัดหรือบรรเทาและขัดเกลาตัณหา เป็นข้อปฏิบัติระดับต้น ๆ สำหรับการส่งเสริมความเจริญงอกงามแห่งกุศลธรรม หลักการคิดของวิธีนี้ คือ เมื่อประสบเหตุการณ์ใด ๆ หรือกับสิ่งใดก็ตามให้บุคคลคิด และจงกระทำสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ขณะนั้น ๆ เพราะจะช่วยให้เกิดการสร้างนิสัยความเคยชินใหม่ ๆ ที่ดีงามให้แก่จิตใจ และลดความเคยชิน
ที่ร้าย ๆ ลงไป
             9. วิธีคิดแบบอยู่ในปัจจุบัน เป็นการมองอีกด้านหนึ่งของการคิดแบบอื่น ๆ โดยมีลักษณะการคิด เป็นลักษณะความคิดชนิดที่ไม่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือ ความคิดที่เกาะติดกับอดีตและเลื่อนลอยไปในอนาคต หรือแนวความคิดของตัณหา เพราะไม่พึงพอใจในสภาพปัจจุบันที่เป็นอยู่ จึงหนีไปอยู่กับอดีตหรืออนาคต ส่วนความคิดที่เป็นปัจจุบัน คือคิดในแนวทางของความรู้ หรือความคิดด้วยอำนาจแห่งปัญญา คำว่า ปัจจุบันในทางธรรมหมายถึง มีสติรู้เท่าทันสิ่งที่รับรู้เกี่ยวข้องหรือต้องทำอยู่ในเวลานั้น ถ้าจิตรับรู้สิ่งใดแล้วเกิดความชอบใจหรือไม่ชอบใจ ขึ้นอยู่กับสภาพของสิ่งนั้น ก็คือ การตกอยู่ในอดีตและหลุดจากปัจจุบันแล้ว ฉะนั้น ปัจจุบันจึงมิได้มีความหมายตามที่คนทั่วไปเข้าใจ
             10. วิธีคิดแบบแยกประเด็น วิธีคิดนี้ไม่ใช่วิธีคิดโดยตรง แต่เป็นวิธีพูดหรือการแสดงหลักการแห่งคำสอนแบบหนึ่ง คือ การมองและแสดงความจริงโดยแยกแยะออกให้แต่ละแง่แต่ละด้านแบบครบทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่จับเอาแง่ใดแง่หนึ่งขึ้นมาวินิจฉัยตีความคลุมลงไป หรือประเมินค่าความดีความชั่วโดยถือเอาส่วนเดียว หรือบางส่วนเท่านั้นมาเป็นตัวตัดสิน
             ดังนั้น แนวคิดตามหลักธรรมโยนิโสมนสิการเป็นการใช้ความคิดอย่างถูกต้องตามวิธีการตาม ความหมายต่าง ๆ ที่ได้นำเสนอในช่วงต้นและเมื่อมาเทียบในกระบวนการพัฒนาปัญญา โยนิโสมนสิการจึงอยู่ในระดับที่เหนือกว่าวิธีการแห่งศรัทธาหรือปรโตโฆสะ เพราะปรโตโฆสะนั้นเป็นขั้นที่เริ่มต้นใช้ความคิดของตนอย่างมีอิสระ การกระทำให้เกิดฉันทะนั้น จะต้องอาศัยปัญญา ดังคำกล่าวที่ว่า “ฉันทะจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อเริ่มมีการใช้สติปัญญา” เนื่องจากความพอใจที่ไม่มีปัญญานั้นอาจจะนำไปสู่ความทุกข์หรือปัญหาอื่น ๆ ได้ปัญญาเกิดขึ้นจากการใช้โยนิโสมนสิการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ อย่างรอบครอบพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (2542, หน้า 45) ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทที่เกี่ยวกับความว่าศรัทธา ปัญญาและฉันทะในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2524 ไว้ว่า“....จะพูดถึงวิธีปฏิบัติงาน ข้อแรก จะต้องสร้างศรัทธาให้เกิดมีขึ้นก่อน เพราะศรัทธาหรือความเชื่อมั่นในประโยชน์ของงานนั้น จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติ คือ ทำให้มีการปฏิบัติด้วยใจในทันที แม้ก่อนที่จะลงมือทำ ดังนั้น ไม่ว่าจะทำการใด ๆ จึงต้องสร้างศรัทธาขึ้นก่อน และการสร้างศรัทธานั้น จึงจำเป็นต้องทำให้ถูกต้องด้วยศรัทธาที่พึงประสงค์จะต้องไม่เกิดจากความ เชื่อง่าย ใจอ่อน และปราศจากเหตุหากจะต้องเกิดขึ้นจากความเพ่งพินิจพิจารณา และใคร่ครวญแล้วด้วยความคิดจิตใจที่หนักแน่นสมบูรณ์ด้วยเหตุผล จนถ่องแท้ถึงคุณค่าและประโยชน์อันแท้จริงในผลของปฏิบัติที่จะบังเกิดตามมา ศรัทธาในลักษณะนี้ เมื่อบังเกิดขึ้นแล้ว ย่อมน้อมนำมาซึ่งฉันทะ ความพอใจ ความกระตือรือร้น ขวนขวาย ตลอดจนความฉลาดและริเริ่มให้เกิดขึ้นเกื้อกูลกันอย่างพร้อมเพรียง แล้วสนับสนุนส่งเสริมให้การปฏิบัติงานดำเนินความก้าวหน้าไปโดยราบรื่นจน สัมฤทธิ์ผล”

บรรณานุกรม

เอกสิทธิ์ สนามทอง. ว่าที่ร้อยตรี.  (2552). การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฉันทะทางการเรียนของนักศึกษาสถาบันอุดม ศึกษาเอกชนในเขตกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคำแหง

พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต). (2533). พจนานุกรมศัพท์พุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

พระ ธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต). (2538). พุทธธรรม: ฉบับปรับปรุงและขยายความ (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต). (2542ข). วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ศยาม.

สืบค้นเมื่อ วันที่ 9 สิงหาคม 2554

ที่มา http://www.idis.ru.ac.th

ฉันทะกับการพัฒนาบุคคล

 ฉันทะกับการพัฒนาบุคคล ตามธรรมชาตินั้น แรงจูงใจมีทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดีมีฝ่ายอกุศลและฝ่ายกุศล หรือความอยากมี 2 ประเภท ก็คือ ความอยากที่เป็นตัณหา และความอยากที่เป็นฉันทะ ซึ่งพร้อมที่จะนำออกมาใช้ได้พัฒนาบุคคลได้การกระทำที่ดีงามกิจกรรมทุกอย่าง ที่เป็นไปได้เพื่อแก้ปัญหาของมนุษย์ ตลอดจนการบรรลุจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา จะต้องอาศัยแรงจูงใจฝ่ายดี ที่เรียกว่า ฉันทะ ทำนองเดียวกับการทำความชั่ว และกิจกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหาสร้างความทุกข์ ย่อมถูกกระตุ้นเร้าด้วยตัณหาที่มีอวิชชาเป็นมูลฐาน ดังกระบวนการพัฒนาฝึกอบรมสั่งสอนทุกอย่าง ทั้งด้านการศึกษาหรือปฏิบัติธรรมต้องช่วยให้บุคคลปลุกฟื้นฉันทะขึ้นมาเป็น พลังชักจูง การกระทำและนำชีวิตไปสู่จุดหมายที่ดีงาม ซึ่งจะก่อประโยชน์สุขที่แท้จริงแก่ชีวิต และโลกที่แวดล้อมอยู่
             พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต) (2542ข, หน้า หน้า 527) กล่าวว่า ฉันทะ จึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่สามารถทำให้คนดีมีความทุกข์ได้ เพราะเป็นปุถุชนผู้ถูกครอบงำด้วยการถือมั่น และอาจกระทำการที่รุนแรงเสียหายเกิดขึ้นได้ ถ้าเกิดทั้งความยึดมั่นและสติปัญญาที่ไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ฉันทะก็เป็นพลังอันสำคัญที่จะช่วยให้บุคคลได้เริ่มเข้าสู่กุศลธรรม จึงจำเป็นที่ต้องปลุกฟื้นให้มีอย่างรู้เท่าทันส่วนโทษที่เกิดกับบุคคลนั้น ยังสามารถเกิดขึ้นได้ แต่เรายังมีทางหลักเลี่ยงหรือหาทางแก้ไขได้หากมีฉันทะที่กำกับด้วยญญา ปุถุชนในสังคมปัจจุบันนั้นมีจิตใจที่พร้อมจะไหลตามตัณหาโดยง่าย การใช้พลังของฝ่ายลบมาหักห้าม เช่น บอกว่าอย่าทำผิดศีล อย่าละเมิดระเบียบเป็นต้น ไม่เพียงพอเพราะการรักษาศีลนั้นหากขาดฉันทะ ก็รักษาศีลแทบไม่ได้ ฉันทะที่เป็นพลังฝ่ายบวกซึ่งตรงกันข้ามกับตัณหาที่จะช่วยยับยั้ง ข่ม และกำจัดตัณหาได้ผล ฉันทะเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่ความสำเร็จในการแก้ปัญหาอันเกิดจากความชั่ว ร้ายทั้งปวง แล้วช่วยก้าวหน้าไปสู่กุศลธรรมได้สำเร็จ หากไม่สามารถสร้างฉันทะหรือความใฝ่ดีให้มาเป็นคู่แข่งกับตัณหาแล้ว ย่อมยากที่พัฒนางานให้ดี ให้เป็นผลที่ดีได้ และจะแก้ไข หรือขจัดปัญหาความชั่วร้ายในสังคมปัจจุบันได้ยากการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้น ผู้ที่มีฉันทะมีกำลังมากกว่าตัณหาเป็นกุศลธรรมฉันทะย่อมข่มตัณหาในทางร้าย ได้ เช่น ความริษยา ไม่สามารถเห็นคนอื่นได้ ทนอยู่ไม่ได้
             ส่วนผู้ที่มีฉันทะฝ่ายดี ถ้ายังไม่บรรลุความดีงามสูงสุดก็ทนอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ (ที่จะไม่ทำให้ดี) เช่น นักศึกษาเพียงค้นคว้าหาคำตอบเพียงครึ่งเดียวก็พอที่จะสอบผ่านได้คะแนนดี แต่กลับเพียรพยายามให้เข้าถึงความรู้ที่แท้จริง หรือรวบรวมความรู้ให้ได้มากจนสุดกำลัง คนที่อยู่ในฐานะได้เปรียบ ก็ไม่เอาเปรียบ เพราะกลัวเสียธรรมมากกว่ากลัวเสียผลประโยชน์ซึ่งตรงกันข้ามกับตัณหา ที่ยอมเสียธรรมดีกว่าเสียผลประโยชน์ เพราะฉะนั้น ฉันทะจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของบุคคล ช่วยให้บุคคลกระทำกิจต่าง ๆ ด้วยฉันทะมิใช่ตัณหา มุ่งเอาชนะงานมิใช่ชนะคน ทำงานอย่างจริงจังยั่งยืนจนสำเร็จ มิใช่ทำงานด้วยความตื่นเต้นแล้วละทิ้งรามือ คนที่มีฉันทะสามารถคิดการทำการเพื่อผลดีงามระยะยาวมิใช่ทำงานสนุกสนาน กล่าวได้ว่า คนที่มีฉันทะ เป็นคนที่ “ใฝ่รู้ สู่สิ่งที่ยาก” ใคร่รู้ข้อบกพร่องของตน ยินดีรับฟังเพื่อเป็นเครื่องชี้ช่องทางปรับปรุงตน และกิจของตนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นคนที่มีธรรมฉันทะจะใช้วิธีการที่ชอบธรรม และฉลาดในวิธีการ ดังนั้นจึงต้องใช้สติปัญญา
             ความสามารถเหนือกว่าปกติ คนที่มีตัณหามีความมักง่ายในวิธีการของตนสำเร็จไม่ว่าวิธีการนั้นจะชั่วร้าย ทุจริต ฉ้อโกง ไร้ธรรม ผู้มีธรรมฉันทะต้องพึงระวังทางที่ผิดพลาด 2 อย่าง คือ
             1. ปล่อยให้ตัณหาเข้ามาสวมรับหรือชิงบทบาทไปทำแทนฉันทะ
             2. ขาดความรู้หรือไม่แสวงหาปัญญา อาจทำการผิดพลาดได้หากไม่รู้แน่ชัดว่าอะไรเป็นธรรม
ดัง นั้น การพัฒนาฉันทะให้เกิดขึ้นในตัวบุคคล พึงควรระมัดระวังไม่ให้ตัณหามีโอกาสเกิดขึ้น หรือเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ควรรีบละหรือตัดตัณหาเสีย ซึ่งองค์ประกอบที่สำคัญในการสกัดกั้นไม่ให้เกิดตัณหาได้ หรือทำให้เกิดฉันทะทางบวกก็คือ โยนิโสมนสิการ

บรรณานุกรม

เอกสิทธิ์ สนามทอง. ว่าที่ร้อยตรี.  (2552). การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฉันทะทางการเรียนของนักศึกษาสถาบันอุดม ศึกษาเอกชนในเขตกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคำแหง

พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต). (2542ข). วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ศยาม.

สืบค้นเมื่อ วันที่ 9 สิงหาคม 2554

ที่มา http://www.idis.ru.ac.th

แนวคิด ทฤษฎี ที่เกี่ยวข้องกับฉันทะและการพัฒนาตนเอง

แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับฉันทะ

             ความหมายของหลักธรรมฉันทะ ฉันทะ เป็นหลักธรรมทางเริ่มต้นแห่งความสำเร็จของอิทธิบาท 4 ซึ่งเป็นเหตุหรือเครื่องมือที่นำไปสู่ความสำเร็จ ประกอบด้วย ฉันทะ คือ ความพอใจ วิริยะ คือ ความเพียร จิตตะ คือ ความคิดจดจ่อ และวิมังสา คือ ความสอบสวนไตร่ตรอง ซึ่งสรุปให้จำง่าย ๆ ว่า ตามความหมายโดยภาพรวม คือ “มีใจรัก พากเพียรเอาจิตฝักใฝ่” (พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต), 2542ข, หน้า 842) หากผู้ใดมีฉันทะก็กล่าวได้ว่า ทำงานสำเร็จไปครึ่งหนึ่ง เพราะฉันทะเป็นกำลังผลักดันให้บุคลากรทำงานต่อไปโดยง่าย สะดวก และสนุกสนาน และฉันทะ คือ ความพอใจ ในฐานะเป็นสิ่งที่ ตนถือว่าดีที่สุดที่มนุษย์เราควรจะได้ ข้อนี้ เป็นกำลังใจอันแรกที่ทำให้เกิดคุณธรรม ข้อต่อไป ทุกข้อฉันทะจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาเพื่อการพัฒนาตนหรือต้องการรู้ใน สิ่งต่าง ๆ เพราะถ้ามีฉันทะอยากทำ อยากเรียนรู้ ก็เกิดการอยากศึกษา เมื่อพบปัญหาก็พยายามอย่างไม่ท้อถอยจึงกล่าวได้ว่า ฉันทะเป็นจิตสำนึกของการศึกษา (พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต), 2541,หน้า 45-46)
             พระกวีวรญาณ (จำนง ทองประเสริฐ) (2502, หน้า 423) กล่าวว่า ฉันทะ หมายถึง ความพอใจ ความสนใจ ความชอบใจ การศึกษาวิชาในแขนงใด ๆ ก็ตาม ถ้าวิชานั้นเป็นที่ถูกใจ ชอบใจ และสนใจแล้ว ก็จะศึกษาหรือกระทำให้สำเร็จด้วยดีโดยง่าย ตรงกันข้ามถ้าถูกบังคับให้ศึกษาหรือถูกบังคับให้ทำงานใดก็ตาม การศึกษาหรือการทำให้ได้ดีโดยยากหรือบางครั้งก็อาจจะไม่มีทางสำเร็จเลยก็ได้ ฉะนั้น ความพอใจหรือความสนใจจึงเป็นหลักการเบื้องต้นที่จะนำเราไปสู่ความสำเร็จ
             พระโสภณคณาจารย์ (ระแบบ จิตรวโณ) (2527, หน้า 58) ได้ให้ความหมายของฉันทะ ว่าเป็นความพอใจรักใคร่สิ่งที่กระทำให้บุคคลปลูกฝังความพอใจในการศึกษาเล่า เรียนในหน้าที่การงานและอาชีพ ในการประพฤติปฏิบัติความดีทั้งหลาย แม้ว่าไม่เคยมีความพอใจมาก่อนเมื่อใช้ปัญญาพินิจพิจารณาให้เห็นประโยชน์ เรื่องเหล่านั้นแล้วปลูกฝังความพอใจให้เกิดขึ้น บุคคลไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม มีความพอใจเป็นบันไดขั้นแรกที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการที่กระทำ
             พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต) (2529, หน้า 842-844) กล่าวว่า ฉันทะ หมายถึงความพอใจ ความมีใจรักในสิ่งที่ทำ และพอใจใฝ่รักในจุดหมายของสิ่งที่ทำนั้น ๆ ให้สำเร็จอยากให้งานนั้นหรือสิ่งนั้นบรรลุจุดมุ่งหมาย ความหมายในหลักธรรม คือ ความรัก ความใส่ใจปรารถนาต่อความดีงามที่เต็มเปี่ยมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของสิ่งที่กระทำหรือจะเข้าถึงด้วยการกระทำนั้น หรืออยากให้ภาวะดีงามเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ ของสิ่งนั้น ๆ ของงานนั้นเกิดมีจริงขึ้น อยากทำให้สำเร็จผลตามจุดมุ่งหมายที่ดีงามนั้น ความอยากที่จะเป็นฉันทะนี้เป็นคนละอย่างกับความอยากได้สิ่งนั้น ๆ มาเสพเสวยหรืออยากเอามาเพื่อตัวตนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ตัณหา ความอยากในฉันทะนั้นทำให้เกิดสุขอยากได้ผลตามกฎธรรมชาติ ความชื่นชม เมื่อเห็นสิ่งนั้น งานนั้นบรรลุความสำเร็จเข้าถึงความสมบูรณ์ อยู่ในภาวะที่ดีงามหรือพูดแยกออกไปว่า ขณะเมื่อสิ่งนั้นหรืองานนั้นกำลังเดินหน้าไปสู่จุดหมาย ก็จะได้รับความโสมนัสเป็นความฉ่ำชื่นใจ ที่พร้อมด้วยความรู้สึกปลอดโล่ง ผ่องใส่ เบิกบาน แผ่ออกไปไร้อิสระตนไว้ในความคับแคบ และมักติดตามด้วยความหวงแหน ห่วงกังวล เศร้าเสียดายและหวั่นกลัวหวาดระแวงโดยสรุปแล้ว จากความหมายต่าง ๆ ของหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับฉันทะตั้งแต่ปีพ.ศ. 2502 จนกระทั่งถึงปีปัจจุบันนี้ ความหมายของฉันทะในมุมมองของนักวิชาการด้านพุทธศาสนาย้อนหลังไปไม่ต่ำกว่า 50 ปี ก็ยังมีทิศทางของความหมายที่ไม่เปลี่ยนแปลงดังนั้นผู้วิจัยจึงขอสรุปได้ว่า ฉันทะ คือ ความต้องการที่จะกระทำ อยากเห็นสิ่งที่ดีงามที่ความชื่นชมที่เห็นงามสำเร็จตามเป้าหมาย โดยมีความรักความใฝ่ใจปรารถนาต่อความดีงาม ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของสิ่งที่กระทำหรือจะเข้าถึงด้วยการกระทำนั้นหรืออยาก ให้ภาวะดีงามเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ของสิ่งนั้น ๆ ของงานนั้นเกิดมีจริงขึ้น อยากทำให้สำเร็จผลตามจุดหมายที่ดีงามนั้น ฉันทะที่กล่าวมา คือฉันทะในทางบวก ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นแรงจูงใจให้บุคคลกระทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งควรสร้างเสริมและพัฒนาฉันทะให้เกิดขึ้นในนักศึกษาแรงจูงใจกับการมีฉันทะ ในตนเอง การพัฒนาตนด้านแรงจูงใจ เป็นการพัฒนาผลักดันให้ตนกระทำการต่าง ๆ อย่างมีความมุ่งมั่นเพื่อบรรลุเป้าหมาย โดยผู้ที่มีแรงจูงใจในตนเองทางการเรียนรู้สูง มักจะทุ่มเทพลังกายพลังใจใช้ความสามารถในการเรียนอย่างสุดกำลัง
             การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนด้านแรงจูงใจจึงมีประโยชน์ เพื่อการเข้าใจพฤติกรรมการเรียนของตน ผู้วิจัยจึงได้ศึกษาความหมายของแรงจูงใจ (motivation) โดยมีนักจิตวิทยาได้อธิบายไว้หลายลักษณะ ดังนี้
             Lahey (2001, p. 370) กล่าวว่า การจูงใจเป็นภาวะภายในที่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมทั้งการคิด ความรู้สึก การกระทำเพื่อมุ่งให้บรรลุเป้าหมาย
Spector (2000, p. 176) กล่าวว่า เป็นภาวะภายในที่ผลักดันตัวบุคคลให้แสดงพฤติกรรมเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง
             Luthans (1992, p. 147) กล่าวว่า คือความเต็มใจที่จะใช้พลังเพื่อดำเนินไปตามจุดหมายที่วางไว้ได้สำเร็จ และมีนักวิชาการบางท่านกล่าวว่า แรงจูงใจเป็นกระบวนการของการกระตุ้นให้เกิดการกระทำสนับสนุนความก้าวหน้าของ กิจกรรมที่ทำ และกำหนดแบบแผนของกิจกรรมที่ทำ โดยแสดงออกเป็นพฤติกรรมเพื่อให้พฤติกรรมนั้นไปสู่จุดมุ่งหมาย
             ดังนั้น แรงจูงใจที่มนุษย์ใช้เป็นแรงกระตุ้นหรือแรงขับอาจมาจากภายนอกหรือภายในตัว บุคคลก็ได้ ซึ่งเป็นแรงขับให้ตนทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งจนประสบความสำเร็จจากความต้องการ ของตนแรงจูงใจเมื่อเปรียบเทียบกับพุทธปรัชญาในการกระทำของมนุษย์ ก็จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้ (พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต), 2542ข, หน้า 490)
             1. ความพอใจ ชอบใจ ยินดี รักใคร่ ที่ดีงาม สบาย เกื้อกูล เป็นกุศล เรียกว่า ฉันทะ
             2. ความพอใจ ชอบใจ ยินดี รักใคร่ ที่ไม่ดี ไม่เกื้อกูล เป็นอกุศล เรียกว่า ตัณหามี 3 ประการ ได้แก่
                2.1. กามตัณหา คือ ความกระหาย ความอยากได้อารมณ์ที่ชอบใจมาเสพปรนเปรอตน หรือความทะเยอทะยานอยากในกาม
                2.2. ภวตัณหา คือ ความกระหายอยากในความถาวรมั่นคง มีคงอยู่ตลอดไป
                2.3. วิภวตัณหา คือ ความกระหายอยากได้ในความดับดิ้นสิ้นขาดสูญแห่งตัวตนนอกจากความหมายดังกล่าวแล้ว  พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต) (2542ข, หน้า 491-526) ได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า โดยกระบวนการธรรมทางพระพุทธศาสนา ตัณหาจะนำไปสู่การแสวงหา คือ การไปหา การไปเอา หรือรับเอา หรือหาทางอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะให้ได้ในสิ่งที่ต้องการนั้น ๆ มาเมื่อได้สิ่งนั้น ๆ มาแล้วจะถือว่าจบไปช่วงหนึ่งฉันทะจึงเป็นความต้องการด้านกุศล คือ ต้องการภาวะดีงาม ความรู้ ความเข้าใจในความจริงแท้ ถ้ามีฉันทะเด็กก็ย่อมต้องการความรู้จากหนังสือเล่มนั้น โดยความรู้เป็นผลของการอ่านหนังสือ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผลของการกระทำโดยตรงเป็นตัวบ่งชี้เพื่อกำหนดการกระทำผลก็ย่อมเกิดขึ้น ดังนั้น ฉันทะทำให้เกิดการกระทำและทำให้เกิดความต้องการที่จะทำหรือทำให้อยากทำ เด็กก็อ่านหนังสือได้เองโดยที่พ่อไม่ต้องล่อด้วยการพาไปดูหนังการที่มีฉันทะ เป็นแรงจูงใจในการการะทำก่อให้เกิดผลในทางจริยธรรม ส่วนตัณหาทำให้ผลทางปฏิบัติแตกต่างกัน คือ เกิดความทุกข์ การกระทำเป็นเพียงเงื่อนไขสำหรับไปได้สิ่งที่ต้องการ หรือไม่ต้องการกระทำ และผลของการกระทำนั้นโดยตรง หรือถ้าไม่ต้องทำได้ ก็จะหลีกเลี่ยงการกระทำนั้นเสีย เพราะการได้มาโดยไม่ต้องการนั้นตรงกับความต้องการของตัณหามากที่สุด และถ้าจำเป็นที่ต้องกระทำโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้นจะกระทำด้วยความรังเกียจจำ ใจ ไม่เต็มใจ และไม่ตั้งใจ พฤติกรรมที่เกิดจากตัณหาจึงปรากฏ ดังนี้
             1. พยายามหลีกเลี่ยงการกระทำที่เป็นเงื่อนไข อาจใช้วิธีลัดหรือวิธีอื่นใดซึ่งง่ายที่จะได้สิ่งที่ต้องการโดยไม่ต้องกระทำ เช่น การทุจริต ลักขโมย ไม่มีความอุตสาหะ
             2. มีแต่ตัณหาที่อยากได้ แต่ไม่มีฉันทะที่อยากทำจึงทำงานที่เป็นเงื่อนไขด้วยความไม่เต็มใจ ไม่ตั้งใจ ทำพอให้เสร็จ หรือทำที่ได้ทำแล้ว ผลก็คือ ไม่มีความประณีตหรือความดีเลิศของงาน และเพราะนิสัยที่ไม่ดีให้แก่ผู้ทำเองกลายเป้ผู้ขาดความใฝ่สัมฤทธิ์มักง่าย จับจด เป็นต้น
             3. เมื่อเงื่อนไขหลักมีช่องโหว่ที่เลี่ยงหลบได้ เป็นเหตุให้ต้องสร้างเงื่อนไขรองต่าง ๆ เข้ามาควบคุมป้องกัน ซึ่งเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุทำให้เกิดระบบต่าง ๆ ที่ซับซ้อนสับสน เช่น ต้องหาคนมาตรวจสอบ ควยคุมการทำงาน สำรวจเวลาเข้างาน เป็นต้น และยิ่งถ้าตัณหาเข้าไปครอบงำพฤติกรรมการปฏิบัติเงื่อนไขรองได้อีก ความทุจริตหละหลวมปัญหาเกิดขึ้นมากมาย จนทำให้ระบบทั้งระบบเสียไปหมด
             ส่วนบุคคลที่มีฉันทะเป็นแรงจูงใจ ต้องการภาวะที่เป็นผลของการกระทำซึ่งตรงกับเหตุให้บุคคลมีความอยากกระทำ ดังนั้น ผลที่ตามมาจึงตรงกันข้ามกับบุคคลที่มีตัณหาเป็นแรงจูงใจผลของพฤติกรรมที่ เกิดจากมีแรงฉันทะเป็นแรงจูงใจ มีดังนี้
             1. ทำให้เกิดความสุจริต ความขยัน ความอดทน ความซื่อตรงต่องานและซื่อตรงต่อเหตุผลที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ไม่ทำให้เกิดความทุจริต
             2. ทำให้ตั้งใจทำงานนำไปสู่ความประณีต ความดีเลิศของงาน เพราะนิสัยใฝ่สัมฤทธิ์ทำจริงจัง และสู้งาน
             3. มีความร่วมมือร่วมใจในการทำงาน การประสานงานและการมีส่วนร่วมเพราะทุกคนต่างมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน มิใช่มุ่งสนองตัณหาส่วนตนจนคอยแก่งแย่งชิงกันจ้องจับผิดซึ่งกันและกัน
             4. จากการกระทำเพื่อผลของงาน ผลที่ได้รับจึงสอดคล้องกับตัวกำหนด หรือตัวบ่งชี้ปริมาณและคุณภาพของงาน ดังนั้น จึงเกิดความพอเหมาะพอดีระหว่างการกระทำกับผลที่พึงประสงค์
             5. เนื่องด้วยบุคคลที่กระทำด้วยฉันทะต้องการผลของการกระทำโดยตรง ทำให้บุคคลนั้นประจักษ์ถึงผลเกิดที่ต่อเนื่องไปกับการกระทำ การกระทำก่อให้เกิดผลที่เขาต้องการให้เขารับความพึ่งพอใจ ความอิ่มใจ ความสุขและความสงบตั้งมั่นของจิตใจ
             ด้วยเหตุนี้ ฉันทะจึงถูกจัดเข้าเป็นอิทธิบาท (ทางแห่งความสำเร็จ) อย่างหนึ่ง อิทธิบาทเป็นหลังสำคัญในการสร้างสมาธิ ฉันทะจึงทำให้เกิดสมาธิ (ภาวะจิตมีอารมณ์เดียว) ที่ส่งเสริมสุขภาพจิตให้จิตมีความสดใส สุขสงบ ปลอดโปร่ง ฉันทะไม่ก่อให้เกิดทุกข์ ไม่ทำให้เกิดปัญหาในใจ เพระไม่ว่าการกระทำนั้นสำเร็จผลหรือไม่ก็ตาม จะเป็นไปตามเหตุผล เหตุเท่าใดผลก็เท่านั้น
             สิ่งเร้าที่กำหนดพฤติกรรมรวมทั้งตัณหาและฉันทะ บางครั้งทั้งตัณหาและฉันทะก็เข้ามาร่วมกำหนดพฤติกรรมด้วยกัน เช่น กรณีของความหิว ในกรณีนี้ โยนิโสมสิการจะคิดว่า การกินเป็นการกระทำเพื่อผลอะไร และรู้ว่าการกินเป็นการกระทำเพื่ให้ร่างกายได้รับอาหารไปซ่อมเสริมร่างกาย ทำให้ร่างกายมีสุขภาพดีไม่มีโรค ไม่ใช่กินอาหารเพื่อความอร่อย เพื่อความสนุกสนานมัวเมาหรือโก้เก๋หรูหรา เป็นต้น โยนิโสมนสิการนี้มิใช่แรงจูงใจโดยตัวมันเอง แต่เป็นปัจจัยให้เกิดแรงจูงใจ ฝ่ายกุศลหรือฉันทะเป็นฉันทะเกิดโยนิโสมนสิการก็เข้ามาร่วมกำหนดพฤติกรรมการ กิน โดยเกิดแทรกซ้อนสลับกับตัณหานับว่าเป็นตัวต้านกันปัญหา
             ลักษณะของตัณหานั้น เป็นแรงเล้าหรือแรงจูงใจให้กระทำตามเงื่อนไง บางครั้งเมื่อไม่ได้เสพเวทนาอันพึงพอใจก็จะไม่ยอมเร้า หรือจูงใจให้กระทำ หรือจูงใจไม่ให้กระทำแม้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นไปเพื่อผลที่พึงประสงค์ เช่น เวลาที่ป่วยไข้ร่างกายต้องการยามารักษา ฉันทะกลับจูงใจให้กินยา กินอาหาร ยิ่งฉันทะเข้มมากเท่าใด จิตใจก็ยิ่งเข้มแข็งขึ้นฉันทะหนุนวิริยะ และทำให้เกิดสมาธิ) คนไข้บางคนมิได้คำนึงถึงเหตุผลเพื่อให้เกิดฉันทะแต่ใช้วิธีเร้าปัญหามาทำให้ เกิดความรู้สึกกลัวตาย และปกป้องตัวเองก็ทำให้กินอาหารและยาได้เหมือนกัน การกระทำเช่นนี้ ทำให้จิตใจทุรนทุราย แม้ว่าจะได้ผลเช่นเดียวกับการกระทำด้วยฉันทะ การตัดวงจรการเกิดตัณหา จำเป็นต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับสิ่งนั้นเสียดังนั้น การใช้โยนิโสมนสิการจึงทำให้เกิดฉันทะขึ้น ซึ่งอาจทำหน้าที่ชักนำความคิดให้เดินตามฉันทะที่เคยปลูกฝังมาแล้ว หรืออาจต้องพิจารณาสิ่งต่าง ๆ จนโยนิโสมนสิการเกิดก็สามารถตัดตอนการเกิดตัณหาและฉันทะก็เกิด เมื่อเกิดฉันทะแล้วก็เกิดอุตสาหะหรือความเพียร
             ในทางปฏิบัตินั้น ตัณหาและฉันทะสามารถเกิดแทรกซ้อนกันได้เป็นปัจจัยเกิดของกันและกันได้เช่นกัน สรุปได้ว่า
             1. เป็นธรรมดาของบุคคลที่มีตัณหาเป็นพื้นฐาน และตัณหาสามารถเกิดขึ้นได้เสมอไม่ว่าเวลาใดที่ปล่อยโอกาสหรือเผลอ
             2. ตัณหาเกิดขึ้นย่อมนำความทุกข์ และปัญหามาให้ จึงสมควรละหรือกำจัดเสีย
             3. บุคคลไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงตัณหาได้ ดังนั้น น่าจะทำให้ตัณหาก่อประโยชน์จนก่อให้เกิดฉันทะ แล้วละตัณหาเสีย ตัณหาสามารถที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้เพื่อเป็นอุบายที่นำไปสู่จุดหมาย เป็นวิธีล่อให้กระทำการที่เป็นเงื่อนไขแล้วใช้โอกาสระหว่างนั้นค่อย ๆ สร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดความรักความดีงามของผลการกระทำนั้นโดยตรง จนเกิดฉันทะขึ้นเอง แล้วก็จะเปลี่ยนแรงจูงใจและพฤติกรรมของตนเองจนเกิดฉันทะที่ถาวร ถ้าทำได้ถือว่าเป็นความสำเร็จ แต่ถ้าเปลี่ยนตัณหาเป็นฉันทะไม่ได้ก็ถือว่าเป็นความล้มเหลว การล่อเร้าด้วยสิ่งอื่นที่มิใช่ผลของการกระทำโดยตรงนั้น ควรใช้อย่างระมัดระวัง เช่น การให้รางวัล ซึ่งในทางการศึกษาจะใช้เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมหรือการเรียนการสอน หรือใช้กันทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น บอกลูกว่าอย่าอ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้ว จะซื้อเครื่องเล่นเกมให้ ที่สำคัญต้องคิดเตรียมไว้ว่าจะชักจูงเด็กเข้าสู่ฉันทะได้อย่างไร จึงจะทำให้เด็กนั้นเกิดความรัก หรือรู้สึกอยากอ่านหนังสือได้เองจากการได้เห็นผลดีของการกระทำ แต่ทางที่ดีผู้ล่อเร้าควรใช้โอกาสนี้ให้เด็กได้ใช้โยนิโสมนสิการในทางที่ เข้าใจคุณค่าของความรู้ เกิดความใฝ่รู้ เกิดมีฉันทะสามารถอ่านหนังสือได้เองโดยไม่ต้องทำตามเงื่อนไขเพื่อรางวัลต่อ ไป การล่อเร้าด้วยตัณหาเช่นนี้ ต้องพึงระวัง เพราะถ้าฉันทะไม่เกิดขึ้นแล้ว ยิ่งทำให้ตัณหาเข้มข้นอีกด้วย เป็นการสร้างนิสัยที่ไม่ดีและเท่ากับเอาเชื้อแห่งความทุกข์และปัญหาไปไว้ใน ชีวิตของเด็ก ในทางพุทธศาสนาแรงจูงใจมี 2 ลักษณะ คือ ตัณหา และฉันทะ ซึ่งฉันทะเป็นแรงจูงใจฝ่ายดี หรือฝ่ายกุศลที่ควรสร้างให้เกิดขึ้นในตัวบุคคลทั่วไป เพราะบุคคลที่มีฉันทะเป็นแรงจูงใจจะต้องมีความต้องการกระทำสิ่งต่าง ๆ ให้ดีงาม ต้องการภาวะที่ดีงาม ต้องการความจริง กระทำสิ่งต่าง ๆ ตามเหตุผลมีความพึงพอใจในผลที่เกิดจากการกระทำที่แท้จริง มิใช่การกระทำตามเงื่อนไขของตัณหา มุ่งเน้นในการเสริมสร้างให้ผู้เรียนเกิดฉันทะทางบวก ซึ่งเป็นแรงจูงใจใฝ่ดี เพราะจะช่วยให้ผู้เรียนมีความต้องการใฝ่รู้ ใฝ่เรียนในทางที่ดี อันก่อประโยชน์หรือพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ที่มีความสามารถในการเรียนรู้ที่ดี เพิ่มศักยภาพทางการเรียนต่อไป สำหรับแรงจูงใจฝ่ายลบหรือตัณหานั้น เป็นฉันทะในทางลบที่ไม่บังเกิดผล ซึ่งควรจะได้ทราบเพื่อความเข้าใจลึกซึ้งต่อไป

บรรณานุกรม

เอกสิทธิ์ สนามทอง. ว่าที่ร้อยตรี.  (2552). การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฉันทะทางการเรียนของนักศึกษาสถาบันอุดม ศึกษาเอกชนในเขตกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคำแหง

พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต). (2542ก). พุทธธรรม. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต). (2542ข). วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ศยาม.

พระกวีวรญาณ (จำนง ทองประเสริฐ). (2502). วิชาศาสนา. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์อาศรมอักษร.

พระโสภณคณาจารย์ (ระแบบ จิตรวโณ). (2527). ธรรมปริทรรศน์. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ศาสนา.

พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต). (2529). พุทธธรรม. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิพุทธธรรม.

Lahey, B. B. (2001). Psychology, an introduction (7th ed.). Chicago: McGraw-Hill.

Luthans, F. (1992). Organizational behavior (6th ed.). New York: McGraw-Hill.

สืบค้นเมื่อ วันที่ 9 สิงหาคม 2554

ที่มา http://www.idis.ru.ac.th

การพัฒนาตนเอง

 การพัฒนาตนเอง (self development) มนุษย์เป็นสัตว์สังคม อยู่ร่วมกันโดยมีบรรทัดฐานของสังคมเป็นกรอบในการปฏิบัติตน บุคคลจะต้องมีการพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับสังคมซึ่งปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา คำว่า “การพัฒนาตน” ในความหมายเชิงจิตวิทยาจะหมายถึง การกระทำเพื่อการเจริญส่วนตนมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นมีความมุ่งมั่น ปรารถนาและค่านิยมอันเป็นพฤติกรรมภายใน ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมภายนอกด้านการกระทำที่ดีเพื่อนำพาชีวิต (self mastery) สู่ความเจริญก้าวหน้าการพัฒนาตนเองเป็นกระบวนการพัฒนาตนที่เป็นระบบ แต่การพัฒนาตนจะสัมฤทธิ์ผลได้นั้น ผู้นั้นจะต้องตระหนักถึงความจำเป็น และมีความต้องการที่จะปรับปรุงตนเองอย่างจริงจัง ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของนายทหารประทวนกองพลทหารราบที่ 3
             ขั้นแรก นายทหารประทวนจะต้องสำรวจตนเองและรู้ปัญหาว่าปัญหาหนี้สินเกิดจากตนเองนั้น ทำไม่ดีอย่างไร บางคนเกิดความลำเอียงไม่เปิดเผยตัวตนที่แท้จริง อาจต้องใช้การทำความรู้จักและเข้าใจตนเอง หรือหน้าต่างหัวใจของ Luft and Ingham (อ้างถึงในปราณี รามสูตร และจำรัส ด้วงสุวรรณ, 2545, หน้า 99) มาดำเนินการ ถ้าเรายอมรับความจริงต้องการจะรู้จักและพัฒนาตนเองแล้ว ต้องใจกว้างพอที่จะรับคำวิพากษ์วิจารณ์จากคนอื่น เพื่อทำให้บริเวณเปิดเผยและบริเวณซ่อนเร้นกว้างที่สุด โดยมีบริเวณจุดบอด และ อวิชาเหลือน้อยที่สุด องค์ประกอบที่ทำให้เรารู้จักตนเอง คือ ความต้องการ บุคลิกภาพและค่านิยม หลังจากเรารู้จักตัวเองและรู้ปัญหาของเราแล้ว ลำดับต่อไปต้องวิเคราะห์ปัญหาว่าปัญหาหนี้สินเกิดจากอะไร จะวางแผนและกำหนดเป้าหมายอย่างไร ถึงจะทำให้หนี้สินลดลงหรือหมดไป
             ในขั้นของการปฏิบัติ ต้องพัฒนาตนทั้งจิตใจและร่างกาย ทางด้านจิตใจจะเริ่มด้วยสร้างแรงจูงใจภายในและการมีเจตคติที่ดี จะทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะสู้และฟันฝ่าอุปสรรค โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้น การเรียนรู้ การริเริ่มสร้างสรรค์และการคิดที่ยาวไกลแบบมีวิสัยทัศน์จะทำให้เกิดการ กระตุ้นทางปัญญา ทำให้เกิดทักษะความคิดในการแก้ปัญหา การพัฒนาทางอารมณ์หรือทางด้านจิตใจก็มีส่วนสำคัญในการฝ่าวิกฤติชีวิต
             กระบวนการที่จะมากล่อมเกลาจิตใจได้ ในขั้นต้นต้องมีความฉลาดทางอารมณ์ คือ รู้จักตนเอง เข้าใจผู้อื่น และปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม แนวทางปรัชญาของพุทธศาสนาเป็นหลักการที่นำมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาจิตใจได้ เป็นอย่างดี เช่น อริยสัจ 4 ทิฏฐธัมมิกัตถะประโยชน์ และสุขของคฤหัสถ์ เพราะเป็นหลักสัจธรรมวิทยาศาสตร์ สามารถพิสูจน์ให้เป็นจริงได้ และในส่วนของการพัฒนาทางกายหรือร่างกาย มีผลต่อภาระหนี้สินโดยถ้าเราเจ็บไข้ได้ป่วยย่อมต้องเสียค่ารักษาพยาบาล ซึ่งบางคนถ้าไม่มีเงินต้องไปกู้หนี้ยืมสินเขามา ทำให้เป็นหนี้เพิ่มมากขึ้น การที่จะมีสุขภาพที่ดีนั้นต้องมี 5 อ. อ. ที่ 1 คือ อาหาร อ. ที่ 2 คือ อากาศ อ. ที่ 3 คือ อุจจาระ อ. ที่ 4 คือ ออกกำลังกาย และ อ. ที่ 5 คือ อารมณ์แจ่มใส ผลลัพธ์ที่ได้หลังจากมีการพัฒนาตนเองแล้ว จะทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะความเชื่อและค่านิยมที่ทำให้เกิดหนี้สินจะหมดไป
             เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในทางที่ดีมีการประหยัด ไม่เป็นหนี้เป็นสิน ในส่วนของผลลัพธ์สุดท้าย หรือผลลัพธ์บั้นปลาย หรือเป้าหมายสุดท้ายของชีวิตที่ต้องการ คือ หนี้สินลดหรือไม่มีเลย ทำให้คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหา และฝ่าวิกฤติชีวิตได้ (สมิต อาชวนิจกุล, 2535, หน้า 121-123)
             ผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตนเองที่มีผลต่อการลดภาระหนี้สิน เช่น การศึกษาวิจัยปัญหาหนี้สินข้าราชการครู 2544 ของสำรวม จงเจริญ (2546, หน้า 188) ผลการวิจัยสรุปได้ว่า ทางออกหนึ่งที่จะเป็นมาตรการบรรเทาปัญหาหนี้สินของครูก็ คือ การแก้ที่ตัวข้าราชการครูเอง โดยการควบคุมค่าใช้จ่ายในครอบครัว การรู้จักประหยัด และไม่ฟุ่มเฟือย และจากรายงานวิจัยของณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ (2546, หน้า 159-167) พบว่า การมีหนี้สินมากเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความยากจน ซึ่งกลุ่มคนที่มีปัญหาดังกล่าวจะขาดวิสัยทัศน์ในการมองโลก ทำให้ไม่มีการคาดการณ์อนาคตว่าจะเป็นอย่างไร จึงไม่คิดถึงแผนชีวิตและแผนครอบครัว แผนของรายได้ แผนของรายจ่าย และแผนของการครองชีพ ตลอดจนท่าทีต่อชีวิตในด้านการมองตนที่ไม่วิเคราะห์ตนเอง ไม่พัฒนาตนเองขาดอัตวิสัยที่จะเอาชนะอุปสรรค จนต้องเบี่ยงเบนไปในทางคลายกลุ้มด้วยเหล้า เสี่ยงโชคด้วยการพนัน เป็นต้น
             จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า การพัฒนาตนเองมีส่วนสำคัญต่อการดำรงชีพของบุคคลเป็นอย่างมาก หากเรารู้เท่าทันปัญหา มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ทำให้เราสามารถอาศัยอยู่บนโลกนี้ด้วยความสงบสุข สุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตที่ดีย่อมเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ เพราะเป็นความสุขที่แท้จริง
             การฝึกอบรมพัฒนาภาวะผู้นำแบบองค์รวม การลดภาระหนี้สินครัวเรือนของนายทหารประทวนกองพลทหารราบที่ 3 กระทำได้โดยปรับเปลี่ยน หรือไม่ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ทำให้เกิดหนี้สิน การที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนได้นั้น จะต้องทำให้เกิดการเรียนรู้ ถึงสาเหตุและแนวทางของการแก้ไขปัญหาหนี้สิน เพราะการเรียนรู้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านความรู้ ความคิด ความเข้าใจ (cognitive domain) เช่นความเชื่อ เจตคติ เป็นต้น ด้านอารมณ์หรือความรู้สึก (affective domain) และการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเคลื่อนไหวของร่างกาย เพื่อให้เกิดความชำนาญหรือทักษะ (psychomotor domain) (Bloom, 1956, p. 7) และปัจจุบันแนวคิดพื้นฐานด้านความรู้มี 2 ลักษณะ คือ explicit knowledge ซึ่งเป็นความรู้คิดที่สามารถแสดงออก และสื่อสารถ่ายทอดความรู้นั้นเป็นภาษาพูด ภาษาเขียน ส่วน tacit knowledge เป็นความรู้เฉพาะตัวมีภาวะของอัตวิสัยอย่างมาก ยากที่จะถ่ายทอดออกมาด้วยคำพูด ซึ่งกระบวนการสร้างความรู้ทั้ง 2 อย่าง ระหว่างบุคคล 2 คน สามารถทำได้ด้วยการฝึกอบรม หรือสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการตรึกตรองเชิงตรรกะ และตรึกตรองเชิงวิพากษ์ตั้งสมมติฐานถึงเหตุปัจจัยต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้แบบองค์รวม (holisticlearning process) (Delahaye อ้างถึงใน เกื้อ วงค์บุญสิน, 2547, หน้า 93-95) การพัฒนาภาวะผู้นำต่อการลดภาระหนี้สินครัวเรือนของนายทหารประทวน ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนายทหารประทวนได้นั้น จะต้องดำเนินการโดยการฝึกอบรมเชิงระบบ โดยมี 4 ขั้นตอน คือ สำรวจความต้องการด้านการฝึกอบรม การวางแผนและเตรียมการด้านการฝึกอบรม การดำเนินการด้านการฝึกอบรม และการติดตามประเมินผลด้านการฝึกอบรม ซึ่งในขั้นตอนของการดำเนินการด้านการฝึกอบรมใช้การฝึกอบรมแบบมีส่วนร่วม และกระบวนการกลุ่มมาดำเนินการอบรม เพราะจะทำให้นายทหารประทวนมีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาของตนเอง และรู้จักคิดแบบมีเหตุผลการฝึกอบรมตามแนวทางใหม่นี้จะให้ความสำคัญต่อการฝึก ให้บุคคล และกลุ่มบุคคลที่เข้ารับการฝึกอบรม รู้จักคิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น ผลที่ได้จากการฝึกอบรม คือความรู้ เจตคติ และทักษะปฏิบัติ ซึ่งจะมีการประเมินผลการอบรมด้วย สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการกลุ่มและการฝึกอบรมจะนำมาสู่ความเข้าใจ ในเนื้อหาวิชาโดยนำมาสู่ความสามารถทางปัญญา และการรับรู้ที่ต่างกัน ประยุกต์ใช้ปรับปรุงพฤติกรรมของตนเอง และปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่น สำหรับการประเมินผลการฝึกอบรมจะทำการประเมินการเรียนรู้ (learning) ซึ่งเป็นการประเมินการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เข้ารับการฝึกอบรม ทั้งด้านความรู้ (cognitive) ความรู้สึกนึกคิด (affective) และความสามารถในการปฏิบัติ (psychomotor) (กาญจนา ไชยพันธุ์, 2547, หน้า 57-61; ชูชัย สมิทธิไกร, 2548, หน้า 29; นรินทร์ชัย พัฒนพงศา, 2547, หน้า 80; เสน่ห์ จุ้ยโต, 2547, หน้า 43)           
             สำหรับการประเมินผลการฝึกอบรม อาศัยตามแนวทางของ Kirkpatrick (อ้างถึงใน สุชาติ ประสิทธิรัฐสินธุ์, 2540, หน้า 41-42) โดยเก็บข้อมูลทางด้านการเรียนรู้ (learning) ปฏิกิริยา (reaction) พฤติกรรม (behavior) และผล (results) นั้น การวัดการเรียนรู้ มาตรวัดจะเป็นวัตถุวิสัย (objective) ในส่วนการประเมินผลพฤติกรรมให้ครอบคลุมสิ่งต่อไปนี้ คือ
             1. การเปรียบเทียบก่อนและหลัง (before and after comparison)
             2. การสังเกตจากพฤติกรรมของผู้เข้ารับการฝึกอบรม โดยผู้บังคับบัญชาผู้ใต้บังคับบัญชา และเพื่อนร่วมงาน
             3. การเปรียบเทียบเชิงสถิติ (statistical comparisons)
             4. การติดตามช่วงยาว (long range follow up)
วิธี ประเมินผลจะทำการวัดผลก่อนและหลังการฝึกอบรม โดยใช้เครื่องมือประเมินผล เช่น แบบทดสอบความรู้ ทัศนคติ แบบสังเกตพฤติกรรม การปฏิบัติจริงกับเครื่องมือ และวิธีการอื่น ๆ รวมทั้งติดตามผลหลังการอบรม 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (behavioral change) พฤติกรรม (behavior) เป็นสิ่งที่บุคคลกระทำแสดงออกหรือตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่สามารถสังเกตได้ วัดได้ตรงกัน ซึ่ง
ประเภทของพฤติกรรม ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดประเภท ได้แก่ (ประทีป จินงี่, 2540, หน้า 5-6)           
             1. ใช้หลักการสังเกตเป็นเกณฑ์ในการจัดประเภท จะแบ่งออกเป็นพฤติกรรมภายนอกที่ผู้อื่นสังเกตเห็นได้ และพฤติกรรมภายใน เป็นพฤติกรรมที่ผู้อื่นไม่สามารถสังเกตเห็นการเกิดพฤติกรรมได้ เป็นพฤติกรรมที่บุคคลเกิดการตอบสนองต่อสิ่งเร้า เช่น เจตคติ ความคิด ความเห็นใจ ฯลฯ
             2. ใช้หลักการรู้ตัวเป็นเกณฑ์ในการจัดประเภท โดยแบ่งพฤติกรรมออกเป็นพฤติกรรมจิตสำนึก และพฤติกรรมจิตใต้สำนึก
             3. ใช้หลักการยอมรับทางสังคมเป็นเกณฑ์ในการจัดประเภท โดยแบ่งพฤติกรรมออกเป็น พฤติกรรมที่พึงประสงค์ เป็นพฤติกรรมที่สังคมยกย่องว่า ดี ถูก ควรกระทำ เช่น ทำตามกฎหมาย และพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เป็นพฤติกรรมที่กระทำแล้วสังคมประณามว่า เลว ผิด ไม่ควรกระทำ เช่น ลักขโมย มีหนี้สิน ฯลฯ
             กระบวนการเกิดพฤติกรรม หรือการปรับตัว ได้มีนักวิชาการสรุปไว้ว่า การจัดจำแนกแนวคิดด้านความรู้สึกที่เป็นชิ้นเป็นอันพอเชื่อถือได้ เป็นงานรวบรวมของ Krathwohl, Bloom, and Masia (1964, p. 120-130) กลุ่มนี้ลำดับมโนภาพของการเกิดความรู้สึก เริ่มจากการเกิดความสนใจมาเป็นอันดับแรก ตามด้วยความซาบซึ้ง เจตคติ ค่านิยม และการปรับตัว แต่ถ้ามองในลำดับความรู้สึกเป็นขั้น ๆ จะเริ่มจากการรับรู้ การตอบสนอง การรู้คุณค่า การจัดระบบคุณค่า และการสร้างลักษณะจากนิสัย จากผลการวิจัย ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้น มี 3 ประการ คือ การตระหนักรู้ (awareness) การจูงใจ (motivation) และความฉลาดทางอารมณ์ (emotional quotient) ซึ่งการติดตามตนเอง(self-monitoring) ในการตระหนักรู้เป็นกุญแจแห่งความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในระยะ ยาว  (Nowack, 2001, p. 3)
             ตามแนวทฤษฎีการเรียนรู้ทางปัญญา (social cognitive theory) ของ Bandura (1986. p. 18-21) มีความเห็นว่า พฤติกรรมของบุคคลเปลี่ยนแปลงไม่ได้เป็นผลมาจากสภาพ แวดล้อมแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่มีผลมาจากกระบวนการทางปัญญาด้วยกล่าวคือ ถ้ากระบวนการทางปัญญาเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคคลก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วยซึ่ง Bandura ได้เสนอวิธีที่จะเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางปัญญา หรือพฤติกรรมภายใน คือ การเรียนรู้จากการสังเกต การกำกับตนเอง และการรับรู้ความสามารถของตน
           
บรรณานุกรม

เกื้อ วงศ์บุญสิน. (2547). ประชากรศาสตร์ทรัพยากรมนุษย์. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

กาญจนา ไชยพันธุ์. (2547). กระบวนการกลุ่มทางการศึกษา (พิมพ์ครั้งที่ 2). ขอนแก่น:
มหาวิทยาลัยขอนแก่น, คณะศึกษาศาสตร์.

ปราณี รามสูตร และจำรัส ด้วงสุวรรณ. (2545). พฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ธนะการพิมพ์.

สมิต อาชวนิจกุล. (2535). การพัฒนาตนเอง ภาค 2 (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ดอกหญ้า.

ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ. (2546). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์บทสังเคราะห์ภาพรวมการพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับคนจน และคนด้อยโอกาสในสังคมไทย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เอดิสันเพรสโปรดักส์.

ประทีป จินงี่. (2540). การวิเคราะห์พฤติกรรมและการปรับพฤติกรรม. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธุ์. (2540). การประเมินผลโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง.

Bandura, A. (1986). Social foundations of thought and action. Englewood
Cliffs, NJ: Prentice-Hall.

Bloom, B. S. (1956). Taxonomy of educational objectives. New York: Longman.

Nowack, M. K. (2001). Executive coaching: How to successfully changebehavior. Retrieved July 28, 2004, from http://www.stressinventory.com/download/coachingmanuscript2001.pdf

สืบค้นเมื่อ วันที่ 5 กรกฎาคม 2554

ที่มา http://www.idis.ru.ac.th

ทฤษฎีการพัฒนาตนเอง

การพัฒนาตามทฤษฎีของพุทธศาสนา ตามทฤษฎีของพุทธศาสนา การพัฒนาตรงกับคำว่า “ภาวนา” ซึ่งหมายถึง การทำให้เจริญงอกงาม ถึงอย่างไรก็ตาม คำว่า “การพัฒนา” ในที่นี้เป็นคำที่กำหนดให้มีคุณค่า และตามหลักการของพุทธศาสนา การพัฒนาจะต้องดำเนินไปพร้อม ๆ กัน 4 ทาง คือ (จำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์, 2545, หน้า 163-164)

             1. การพัฒนาทางด้านกายภาพ (physical development) เป็นกระบวนการสร้างความเจริญงอกงามทางร่างกาย การฝึกอบรมร่างกายให้รู้จักติดต่อกับสิ่งภายนอกด้วยดีและปฏิบัติต่อสิ่งภาย นอกเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณ มิให้เกิดโทษ ให้กุศลธรรมเจริญงอกงามและกำจัดให้อกุศลธรรมเสื่อมสูญไป สิ่งภายนอกที่มีบทบาทต่อชีวิตมนุษย์ก็ คือ อารมณ์ภายนอกทั้ง 5 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จุดมุ่งหมายของการพัฒนาในข้อนี้ก็คือ การทำให้บุคคลรู้จักวิธีการเกี่ยวข้องกับอารมณ์ภายนอกทั้ง 5 อย่างนี้ อย่างถูกต้องเหมาะสม และเป็นคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาชีวิตให้เจริญก้าวหน้าสูงขึ้น
             2. การพัฒนาทางด้านศีลธรรม (moral development) เป็นกระบวนการฝึก อบรมบุคคลให้มีศีล ให้ตั้งอยู่ในระเบียบวินัย ไม่เบียดเบียน หรือก่อความเดือดร้อนเสียหายแก่บุคคลอื่น สามารถอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นได้เป็นอย่างดี มีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อบุคคลอื่น
             3. การพัฒนาทางด้านจิตใจ หรือทางด้านอารมณ์ (spiritual or emotionaldevelopment) เป็นความพยายามที่จะฝึกอบรมจิตใจให้เข้มแข็งให้มีความมั่นคง และมีความเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมทั้งหลาย เช่น มีเมตตากรุณา มีความขยันหมั่นเพียร มีความอดทน มีสมาธิ มีความสดชื่นเบิกบาน มีความสงบสุข แจ่มใส เป็นต้น การพัฒนาทางด้านจิตใจที่บางทีเรียกว่า การพัฒนาอารมณ์
             4. การพัฒนาทางด้านสติปัญญา (intellectual development) เป็นกระบวนการในการฝึกอบรมให้รู้และเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ผู้ที่มีความรู้เท่าทันเห็นแจ้งโลกและชีวิตตามสภาพของมัน สามารถทำจิตใจให้เป็นอิสระ และบริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลสเศร้าหมอง และทำตนให้ปลอดพ้นจากความทุกข์ ทำตนให้มีความสุข สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถทำตนให้อยู่เหนือปัญหา เหนือความขัดแย้ง และพัฒนาส่วนรวมให้มีความสงบ มีความเสมอภาค และมีความเป็นประชาธิปไตยอย่างมีคุณภาพ

             หลักการพัฒนาตนเอง คนที่จะพัฒนาตนเองจะเริ่มต้นด้วยการสำรวจและพิจารณาตนเองว่ามีข้อดีและข้อ บกพร่องอะไรบ้าง การสำรวจจะใช้วิธีการส่องกระจก (คนที่เรามีความสัมพันธ์ด้วยช่วยบอก) เมื่อทราบแล้วก็จะมาวิเคราะห์ตนเองและตั้งเป้าหมายว่ามีสิ่งใดที่ดีและมี อยู่ในตัวเราแล้ว เราก็ควรรักษาไว้ สิ่งใดที่ไม่ดีและมีอยู่ในตัวเรา เราก็ควรจะหาทางทำให้ลดน้อยลงหรือควรขจัดให้หมดไป และมีสิ่งใดที่ดีและยังไม่มีในตัวเรา เราก็ควรจะนำมาเพิ่มให้กับตัวเราให้มากขึ้น เมื่อวิเคราะห์และตั้งเป้าหมายแล้ว ต่อไปก็คิดหาวิธีการ และวางแผนดำเนินการ โดยเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับตัวเราเอง เมื่อวางแผนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องนำแผนดำเนินการดังกล่าวมาดำเนินการ (ลงมือปฏิบัติจริง) ถ้าเราสามารถทำได้ตามแผนที่วางไว้ ก็ถือว่าแผนการที่วางไว้เหมาะสมกับเรา แต่ถ้าทำไม่ได้ตามแผนก็ถือว่าแผนการนั้นไม่เหมาะสมกับเรา ต้องปรับปรุงให้เหมาะสมจนเราสามารถปฏิบัติได้ เมื่อดำเนินการตามแผนแล้ว จะต้องมีการประเมินผลการดำเนินการว่า
             บรรลุเป้าหมายเพียงใด มีปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้างหรือไม่ระหว่างดำเนินการ ถ้ามีจะได้หาทางปรับปรุง เพื่อให้การดำเนินการในครั้งต่อไปมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถเขียนเป็นวงจรในการพัฒนาตนเองได้ตามแผนภาพ (ปราณี รามสูตร และจำรัสด้วงสุวรรณ, 2545, หน้า 123-125)

บรรณานุกรม

จำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์. (2545). สังคมวิทยาตามแนวพุทธศาสตร์. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, สำนักอธิการบดี.

ปราณี รามสูตร และจำรัส ด้วงสุวรรณ. (2545). พฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ธนะการพิมพ์.

สืบค้นเมื่อ วันที่ 4 กรกฎาคม 2554
ที่มา http://www.idis.ru.ac.th

วิธีการพัฒนาตน

1. การควบคุมตน
การควบคุมตน [Self-control] เป็นเทคนิควิธีการพัฒนาตนอย่างหนึ่ง เป็นการควบคุมภายใน สำหรับการควบคุมตน มีผู้ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง พฤติกรรมที่บุคคลกระทำเพื่อให้ได้สิ่งที่ตนต้องการ โดยสิ่งนั้น เป็นสิ่งที่ตนเอง พิจารณาตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง หรือ การควบคุมตน คือ กระบวนการที่บุคคล ใช้วิธีการหนึ่งวิธีการใด หรือ หลายวิธีรวมกัน เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง จากพฤติกรรมที่ไม่พึง ประสงค์ ไปสู่พฤติกรรมที่พึงประสงค์ โดยที่บุคคลนั้นเป็นผู้กำหนดพฤติกรรมเป้าหมาย และกระบวนการที่นำไปสู่เป้าหมายนั้นด้วยตนเอง การควบคุมตนเอง เป็นทักษะที่เกิดจากการเรียนรู้
1. ขั้นตอนการพัฒนาตนโดยวิธีการควบคุมตนเอง ในการควบคุมตนเอง มีขั้นตอนในการพัฒนาตน ดังนี้
  • กำหนดพฤติกรรมเป้าหมายด้วยตนเองเริ่มต้นด้วยบุคคลจะต้อง กำหนดพฤติกรรมเป้าหมาย ที่ต้องการเปลี่ยนแปลง แก้ไข ด้วยตนเองให้ชัดเจน
  • สังเกตและบันทึกพฤติกรรมของตน การสังเกตและบันทึกพฤติกรรม จะต้องกระทำด้วยตนเอง และบันทึกเป็นระยะ ๆ
  • กำหนดเงื่อนไขการเสริมแรง หรือการลงโทษตนเอง เป็นการกำหนดเงื่อนไขในการที่จะได้รับการเสริมแรง หรือการลงโทษ หลังจากที่ได้ทำพฤติกรรมเป้าหมาย การกำหนดเงื่อนไขของการเสริมแรง หรือการลงโทษนี้ ควรกระทำด้วยตนเอง เพราะสอดคล้องกับความต้องการของตน อันจะนำไปสู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิผล
3. เลือกเทคนิคด้วยตนเอง การเลือกเทคนิคด้วยตนเอง จะช่วยให้สามารถเลือกเทคนิค เพื่อควบคุมพฤติกรรม ได้เหมาะสมกับตน
4. ใช้เทคนิคการควบคุมตนเอง ตามวิธีการและขั้นตอนของเทคนิคที่นำมาใช้
5. ประเมินตนเอง เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป้าหมาย ว่าเปลี่ยนแปลงตามเงื่อนไข และข้อกำหนดหรือไม่
6. เสริมแรง หรือ การลงโทษตนเอง หลังจากประเมินพฤติกรรมเป้าหมายตามข้อ 1.1.5แล้วการจะได้รับการเสริมแรงหรือลงโทษนั้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมเป้าหมาย ว่าเป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ หรือไม่ ถ้าเป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้ง ไว้ หรือไม่ ถ้าเป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ก็เสริมปรงด้วยการให้รางวัล แต่ถ้าไม่เป็นไปตามเกณฑ์ควรมีการลงโทษเช่นกัน
2. การดำเนินการเพื่อการควบคุมตน เพื่อให้การควบคุมตน บรรลุเป้าหมายและเกิดประสิทธิผล การดำเนินการเพื่อการควบคุมตน มีวิธีดำเนินการดังนี้
1. กำหนดเป้าหมาย (Set a goal) การควบคุมตนจะสำเร็จได้ด้วยดี จะต้องเริ่มด้วยการกำหนดเป้าหมายสำหรับตน เป้าหมายปกติจะกำหนดเป็นพฤติกรรมเป้า (target behavior)
2. ระบุพฤติกรรมเป้า (Defining your target behavior) การควบคุมตน มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องกำหนดพฤติกรรมเป้า ในรูปของเป้าเชิงพฤติกรรม เช่น "เลิกบุหรี่" ในการกำหนดพฤติกรรมเป้าควรมีลักษณะเป็นบวก ถ้าต้องการจะลดน้ำหนักลง อ่าเขียนว่า "เพื่อไม่ให้อ้วน" ซึ่งมีลักษณะเป็นลบ แต่ควรเขียนว่า"เพื่อให้ผอมลง" ซึ่งมีลักษณะเป็นบวก คือ เน้นสิ่งที่ท่านต้องการจะเป็น ไม่ใช่สิ่งที่ท่านเป็นอยู่
3. เลือกเป้าหมายที่บรรลุได้ (Selecting and attainable goal) พฤติกรรมเป้าจะต้องบรรลุได้ ความผิดพลาดของการปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น ก็คือการเลือกเป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้หรือสูงเกินไป
4. บันทึกพฤติกรรม (Recording your behavior) ครั้งแรกที่กำหนดเป้าหมาย จำเป็นจะต้องสังเกตพฤติกรรมในปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นฐานในการประเมินความก้าวหน้าและเพื่อการเปรียบเทียบต่อไป วิธีการบันทึกให้ใช้วิธีการที่ปฏิบัติได้ไม่ยาก และสามารถเคลื่อนที่ได้ (Portable) ปกติควรบันทึกอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง แต่ไม่ควรนานกว่า 3-4 สัปดาห์ ต่อครั้ง
5. การทำสัญญากับตน (Marking a self-contract) เพื่อให้ได้ข้อตกลงกับตัวเองที่ชัดเจน เกี่ยวกับสิ่งที่จะต้องทำให้เสร็จ วิธีที่ดีที่สุด คือ การทำสัญญากับตนเอง สัญญาดังกล่าวจะต้องเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน ยุติธรรม และมีข้อความในเชิงบวก
6. การเสริมแรงตน(Self-reinforcing) ในอุดมคติ การเสริมแรงที่ดีที่สุดก็คือ การเสริมแรงทันทีที่มีพฤติกรรมตามเป้าหมาย

ไพศาล ไกรสิทธิ์ (2542) การพัฒนาตน ราชบุรี: สถาบันราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง (หน้า 20-31)< 

ความหมายของการพัฒนาตนเอง

ความหมายของการพัฒนาตน แนวคิดพื้นฐานในการพัฒนาตน
ความสำคัญของการพัฒนาตน หลักการพัฒนาตนเชิงการแพทย์
หลักการพัฒนาตนเชิงจิตวิทยา การพัฒนาตนเชิงพุทธศาสตร์
เทคนิคการพัฒนาตน
ความหมายของการพัฒนาตน
การพัฒนาตน ตรงกับภาษาอังกฤษว่า self-development แต่ยังมีคำที่มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่าการพัฒนาตน และมักใช้แทนกัน บ่อยๆ ได้แก่ การปรับปรุงตน (self-improvement) การบริหารตน (self-management) และการปรับตน (self-modification) หมายถึงการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เหมาะสมเพื่อสนองความต้องการและเป้าหมายของ ตนเอง หรือเพื่อให้สอดคล้องกับ สิ่งที่สังคมคาดหวัง
ความหมายที่ 1 การพัฒนาตนคือการที่บุคคลพยายามที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนด้วยตนเองให้ดี ขึ้นกว่าเดิม เหมาะสมกว่าเดิม ทำให้สามารถดำเนินกิจกรรม แสดงพฤติกรรม เพื่อสนองความต้องการ แรงจูงใจ หรือเป้าหมายที่ตนตั้งไว้
ความหมายที่ 2 การพัฒนาตนคือการพัฒนาศักยภาพของตนด้วยตนเองให้ดีขึ้นทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม เพื่อให้ตนเป็นสมาชิกที่มีประสิทธิภาพของสังคม เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ตลอดจนเพื่อการดำรงชีวิตอย่างสันติสุขของตน
แนวคิดพื้นฐานในการพัฒนาตน
บุคคลที่จะพัฒนาตนเองได้ จะต้องเป็นผู้มุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงตัวเอง โดยมีความเชื่อหรือแนวคิดพื้นฐานในการพัฒนาตนที่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมให้การพัฒนาตนเองประสบความสำเร็จ แนวคิดที่สำคัญมีดังนี้
1. มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่มีคุณค่าอยู่ในตัวเอง ทำให้สามารถฝึกหัดและพัฒนาตนได้ในเกือบทุกเรื่อง
2. ไม่มีบุคคลใดที่มีความสมบูรณ์พร้อมทุกด้าน จนไม่จำเป็นต้องพัฒนาในเรื่องใดๆ อีก
3. แม้บุคคลจะเป็นผู้ที่รู้จักตนเองได้ดีที่สุด แต่ก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนตนเองได้ในบางเรื่อง ยังต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่นในการพัฒนาตน การควบคุมความคิด ความรู้สึก และการกระทำของตนเอง มีความสำคัญเท่ากับการควบคุมสิ่งแวดล้อมภายนอก
4. อุปสรรคสำคัญของการปรับปรุงและพัฒนาตนเอง คือ การที่บุคคลมีความคิดติดยึด ไม่ยอมปรับเปลี่ยนวิธีคิด และการกระทำ จึงไม่ยอมสร้างนิสัยใหม่ หรือฝึกทักษะใหม่ๆที่จำเป็นต่อตนเอง
5. การปรับปรุงและพัฒนาตนเองสามารถดำเนินการได้ทุกเวลาและอย่างต่อเนื่อง เมื่อพบปัญหาหรือข้อบกพร่องเกี่ยวกับตนเอง
ความสำคัญของการพัฒนาตน
บุคคลล้วนต้องการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ หรืออย่างน้อยก็ต้องการมีชีวิตที่เป็นสุขในสังคม ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายและความต้องการของตนเอง พัฒนาตนเองได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมโลก การพัฒนาตนจึงมีความสำคัญดังนี้
ก. ความสำคัญต่อตนเอง จำแนกได้ดังนี้
1. เป็นการเตรียมตนให้พร้อมในด้านต่างๆ เพื่อรับกับสถานการณ์ทั้งหลายได้ด้วยความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง
2. เป็นการปรับปรุงสิ่งที่บกพร่อง และพัฒนาพฤติกรรมให้เหมาะสม ขจัดคุณลักษณะที่ไม่ต้องการออกจากตัวเอง และเสริมสร้างคุณลักษณะที่สังคมต้องการ
3. เป็นการวางแนวทางให้ตนเองสามารถพัฒนาไปสู่เป้าหมายในชีวิตได้อย่างมั่นใจ
4. ส่งเสริมความรู้สึกในคุณค่าแห่งตนสูงให้ขึ้น มีความเข้าใจตนเอง สามารถทำหน้าที่ตามบทบาทของตนได้เต็มศักยภาพ
ข. ความสำคัญต่อบุคคลอื่น เนื่องจากบุคคลย่อมต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน การพัฒนาในบุคคลหนึ่งย่อมส่งผลต่อบุคคลอื่นด้วย การปรับปรุงและพัฒนาตนเองจึงเป็นการเตรียมตนให้เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีของผู้ อื่น ทั้งบุคคลในครอบครัวและเพื่อนในที่ทำงาน สามารถเป็นตัวอย่างหรือเป็นที่อ้างอิงให้เกิดการพัฒนาในคนอื่นๆ ต่อไป เป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งชีวิตส่วนตัวและการทำงานและการอยู่ร่วมกันอย่างเป็น สุขในชุมชน ที่จะส่งผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ค. ความสำคัญต่อสังคมโดยรวม ภาระกิจที่แต่ละหน่วยงานในสังคมต้องรับผิดชอบ ล้วนต้องอาศัยทรัพยากรบุคคลเป็นผู้ปฏิบัติงาน การที่ผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนได้พัฒนาและปรับปรุงตนเองให้ทันต่อพัฒนาการของ รูปแบบการทำงานหรือเทคโนโลยี การพัฒนาเทคนิควิธี หรือวิธีคิดและทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและคุณภาพของผลผลิต ทำให้หน่วยงานนั้นสามารถแข่งขันในเชิงคุณภาพและประสิทธิภาพกับสังคมอื่นได้ สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมได้


Resource : ผศ.วินัย เพชรช่วย