วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การพัฒนาตนเอง

 การพัฒนาตนเอง (self development) มนุษย์เป็นสัตว์สังคม อยู่ร่วมกันโดยมีบรรทัดฐานของสังคมเป็นกรอบในการปฏิบัติตน บุคคลจะต้องมีการพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับสังคมซึ่งปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา คำว่า “การพัฒนาตน” ในความหมายเชิงจิตวิทยาจะหมายถึง การกระทำเพื่อการเจริญส่วนตนมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นมีความมุ่งมั่น ปรารถนาและค่านิยมอันเป็นพฤติกรรมภายใน ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมภายนอกด้านการกระทำที่ดีเพื่อนำพาชีวิต (self mastery) สู่ความเจริญก้าวหน้าการพัฒนาตนเองเป็นกระบวนการพัฒนาตนที่เป็นระบบ แต่การพัฒนาตนจะสัมฤทธิ์ผลได้นั้น ผู้นั้นจะต้องตระหนักถึงความจำเป็น และมีความต้องการที่จะปรับปรุงตนเองอย่างจริงจัง ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของนายทหารประทวนกองพลทหารราบที่ 3
             ขั้นแรก นายทหารประทวนจะต้องสำรวจตนเองและรู้ปัญหาว่าปัญหาหนี้สินเกิดจากตนเองนั้น ทำไม่ดีอย่างไร บางคนเกิดความลำเอียงไม่เปิดเผยตัวตนที่แท้จริง อาจต้องใช้การทำความรู้จักและเข้าใจตนเอง หรือหน้าต่างหัวใจของ Luft and Ingham (อ้างถึงในปราณี รามสูตร และจำรัส ด้วงสุวรรณ, 2545, หน้า 99) มาดำเนินการ ถ้าเรายอมรับความจริงต้องการจะรู้จักและพัฒนาตนเองแล้ว ต้องใจกว้างพอที่จะรับคำวิพากษ์วิจารณ์จากคนอื่น เพื่อทำให้บริเวณเปิดเผยและบริเวณซ่อนเร้นกว้างที่สุด โดยมีบริเวณจุดบอด และ อวิชาเหลือน้อยที่สุด องค์ประกอบที่ทำให้เรารู้จักตนเอง คือ ความต้องการ บุคลิกภาพและค่านิยม หลังจากเรารู้จักตัวเองและรู้ปัญหาของเราแล้ว ลำดับต่อไปต้องวิเคราะห์ปัญหาว่าปัญหาหนี้สินเกิดจากอะไร จะวางแผนและกำหนดเป้าหมายอย่างไร ถึงจะทำให้หนี้สินลดลงหรือหมดไป
             ในขั้นของการปฏิบัติ ต้องพัฒนาตนทั้งจิตใจและร่างกาย ทางด้านจิตใจจะเริ่มด้วยสร้างแรงจูงใจภายในและการมีเจตคติที่ดี จะทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะสู้และฟันฝ่าอุปสรรค โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้น การเรียนรู้ การริเริ่มสร้างสรรค์และการคิดที่ยาวไกลแบบมีวิสัยทัศน์จะทำให้เกิดการ กระตุ้นทางปัญญา ทำให้เกิดทักษะความคิดในการแก้ปัญหา การพัฒนาทางอารมณ์หรือทางด้านจิตใจก็มีส่วนสำคัญในการฝ่าวิกฤติชีวิต
             กระบวนการที่จะมากล่อมเกลาจิตใจได้ ในขั้นต้นต้องมีความฉลาดทางอารมณ์ คือ รู้จักตนเอง เข้าใจผู้อื่น และปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม แนวทางปรัชญาของพุทธศาสนาเป็นหลักการที่นำมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาจิตใจได้ เป็นอย่างดี เช่น อริยสัจ 4 ทิฏฐธัมมิกัตถะประโยชน์ และสุขของคฤหัสถ์ เพราะเป็นหลักสัจธรรมวิทยาศาสตร์ สามารถพิสูจน์ให้เป็นจริงได้ และในส่วนของการพัฒนาทางกายหรือร่างกาย มีผลต่อภาระหนี้สินโดยถ้าเราเจ็บไข้ได้ป่วยย่อมต้องเสียค่ารักษาพยาบาล ซึ่งบางคนถ้าไม่มีเงินต้องไปกู้หนี้ยืมสินเขามา ทำให้เป็นหนี้เพิ่มมากขึ้น การที่จะมีสุขภาพที่ดีนั้นต้องมี 5 อ. อ. ที่ 1 คือ อาหาร อ. ที่ 2 คือ อากาศ อ. ที่ 3 คือ อุจจาระ อ. ที่ 4 คือ ออกกำลังกาย และ อ. ที่ 5 คือ อารมณ์แจ่มใส ผลลัพธ์ที่ได้หลังจากมีการพัฒนาตนเองแล้ว จะทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะความเชื่อและค่านิยมที่ทำให้เกิดหนี้สินจะหมดไป
             เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในทางที่ดีมีการประหยัด ไม่เป็นหนี้เป็นสิน ในส่วนของผลลัพธ์สุดท้าย หรือผลลัพธ์บั้นปลาย หรือเป้าหมายสุดท้ายของชีวิตที่ต้องการ คือ หนี้สินลดหรือไม่มีเลย ทำให้คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหา และฝ่าวิกฤติชีวิตได้ (สมิต อาชวนิจกุล, 2535, หน้า 121-123)
             ผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตนเองที่มีผลต่อการลดภาระหนี้สิน เช่น การศึกษาวิจัยปัญหาหนี้สินข้าราชการครู 2544 ของสำรวม จงเจริญ (2546, หน้า 188) ผลการวิจัยสรุปได้ว่า ทางออกหนึ่งที่จะเป็นมาตรการบรรเทาปัญหาหนี้สินของครูก็ คือ การแก้ที่ตัวข้าราชการครูเอง โดยการควบคุมค่าใช้จ่ายในครอบครัว การรู้จักประหยัด และไม่ฟุ่มเฟือย และจากรายงานวิจัยของณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ (2546, หน้า 159-167) พบว่า การมีหนี้สินมากเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความยากจน ซึ่งกลุ่มคนที่มีปัญหาดังกล่าวจะขาดวิสัยทัศน์ในการมองโลก ทำให้ไม่มีการคาดการณ์อนาคตว่าจะเป็นอย่างไร จึงไม่คิดถึงแผนชีวิตและแผนครอบครัว แผนของรายได้ แผนของรายจ่าย และแผนของการครองชีพ ตลอดจนท่าทีต่อชีวิตในด้านการมองตนที่ไม่วิเคราะห์ตนเอง ไม่พัฒนาตนเองขาดอัตวิสัยที่จะเอาชนะอุปสรรค จนต้องเบี่ยงเบนไปในทางคลายกลุ้มด้วยเหล้า เสี่ยงโชคด้วยการพนัน เป็นต้น
             จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า การพัฒนาตนเองมีส่วนสำคัญต่อการดำรงชีพของบุคคลเป็นอย่างมาก หากเรารู้เท่าทันปัญหา มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ทำให้เราสามารถอาศัยอยู่บนโลกนี้ด้วยความสงบสุข สุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตที่ดีย่อมเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ เพราะเป็นความสุขที่แท้จริง
             การฝึกอบรมพัฒนาภาวะผู้นำแบบองค์รวม การลดภาระหนี้สินครัวเรือนของนายทหารประทวนกองพลทหารราบที่ 3 กระทำได้โดยปรับเปลี่ยน หรือไม่ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ทำให้เกิดหนี้สิน การที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนได้นั้น จะต้องทำให้เกิดการเรียนรู้ ถึงสาเหตุและแนวทางของการแก้ไขปัญหาหนี้สิน เพราะการเรียนรู้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านความรู้ ความคิด ความเข้าใจ (cognitive domain) เช่นความเชื่อ เจตคติ เป็นต้น ด้านอารมณ์หรือความรู้สึก (affective domain) และการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเคลื่อนไหวของร่างกาย เพื่อให้เกิดความชำนาญหรือทักษะ (psychomotor domain) (Bloom, 1956, p. 7) และปัจจุบันแนวคิดพื้นฐานด้านความรู้มี 2 ลักษณะ คือ explicit knowledge ซึ่งเป็นความรู้คิดที่สามารถแสดงออก และสื่อสารถ่ายทอดความรู้นั้นเป็นภาษาพูด ภาษาเขียน ส่วน tacit knowledge เป็นความรู้เฉพาะตัวมีภาวะของอัตวิสัยอย่างมาก ยากที่จะถ่ายทอดออกมาด้วยคำพูด ซึ่งกระบวนการสร้างความรู้ทั้ง 2 อย่าง ระหว่างบุคคล 2 คน สามารถทำได้ด้วยการฝึกอบรม หรือสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการตรึกตรองเชิงตรรกะ และตรึกตรองเชิงวิพากษ์ตั้งสมมติฐานถึงเหตุปัจจัยต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้แบบองค์รวม (holisticlearning process) (Delahaye อ้างถึงใน เกื้อ วงค์บุญสิน, 2547, หน้า 93-95) การพัฒนาภาวะผู้นำต่อการลดภาระหนี้สินครัวเรือนของนายทหารประทวน ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนายทหารประทวนได้นั้น จะต้องดำเนินการโดยการฝึกอบรมเชิงระบบ โดยมี 4 ขั้นตอน คือ สำรวจความต้องการด้านการฝึกอบรม การวางแผนและเตรียมการด้านการฝึกอบรม การดำเนินการด้านการฝึกอบรม และการติดตามประเมินผลด้านการฝึกอบรม ซึ่งในขั้นตอนของการดำเนินการด้านการฝึกอบรมใช้การฝึกอบรมแบบมีส่วนร่วม และกระบวนการกลุ่มมาดำเนินการอบรม เพราะจะทำให้นายทหารประทวนมีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาของตนเอง และรู้จักคิดแบบมีเหตุผลการฝึกอบรมตามแนวทางใหม่นี้จะให้ความสำคัญต่อการฝึก ให้บุคคล และกลุ่มบุคคลที่เข้ารับการฝึกอบรม รู้จักคิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น ผลที่ได้จากการฝึกอบรม คือความรู้ เจตคติ และทักษะปฏิบัติ ซึ่งจะมีการประเมินผลการอบรมด้วย สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการกลุ่มและการฝึกอบรมจะนำมาสู่ความเข้าใจ ในเนื้อหาวิชาโดยนำมาสู่ความสามารถทางปัญญา และการรับรู้ที่ต่างกัน ประยุกต์ใช้ปรับปรุงพฤติกรรมของตนเอง และปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่น สำหรับการประเมินผลการฝึกอบรมจะทำการประเมินการเรียนรู้ (learning) ซึ่งเป็นการประเมินการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เข้ารับการฝึกอบรม ทั้งด้านความรู้ (cognitive) ความรู้สึกนึกคิด (affective) และความสามารถในการปฏิบัติ (psychomotor) (กาญจนา ไชยพันธุ์, 2547, หน้า 57-61; ชูชัย สมิทธิไกร, 2548, หน้า 29; นรินทร์ชัย พัฒนพงศา, 2547, หน้า 80; เสน่ห์ จุ้ยโต, 2547, หน้า 43)           
             สำหรับการประเมินผลการฝึกอบรม อาศัยตามแนวทางของ Kirkpatrick (อ้างถึงใน สุชาติ ประสิทธิรัฐสินธุ์, 2540, หน้า 41-42) โดยเก็บข้อมูลทางด้านการเรียนรู้ (learning) ปฏิกิริยา (reaction) พฤติกรรม (behavior) และผล (results) นั้น การวัดการเรียนรู้ มาตรวัดจะเป็นวัตถุวิสัย (objective) ในส่วนการประเมินผลพฤติกรรมให้ครอบคลุมสิ่งต่อไปนี้ คือ
             1. การเปรียบเทียบก่อนและหลัง (before and after comparison)
             2. การสังเกตจากพฤติกรรมของผู้เข้ารับการฝึกอบรม โดยผู้บังคับบัญชาผู้ใต้บังคับบัญชา และเพื่อนร่วมงาน
             3. การเปรียบเทียบเชิงสถิติ (statistical comparisons)
             4. การติดตามช่วงยาว (long range follow up)
วิธี ประเมินผลจะทำการวัดผลก่อนและหลังการฝึกอบรม โดยใช้เครื่องมือประเมินผล เช่น แบบทดสอบความรู้ ทัศนคติ แบบสังเกตพฤติกรรม การปฏิบัติจริงกับเครื่องมือ และวิธีการอื่น ๆ รวมทั้งติดตามผลหลังการอบรม 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (behavioral change) พฤติกรรม (behavior) เป็นสิ่งที่บุคคลกระทำแสดงออกหรือตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่สามารถสังเกตได้ วัดได้ตรงกัน ซึ่ง
ประเภทของพฤติกรรม ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดประเภท ได้แก่ (ประทีป จินงี่, 2540, หน้า 5-6)           
             1. ใช้หลักการสังเกตเป็นเกณฑ์ในการจัดประเภท จะแบ่งออกเป็นพฤติกรรมภายนอกที่ผู้อื่นสังเกตเห็นได้ และพฤติกรรมภายใน เป็นพฤติกรรมที่ผู้อื่นไม่สามารถสังเกตเห็นการเกิดพฤติกรรมได้ เป็นพฤติกรรมที่บุคคลเกิดการตอบสนองต่อสิ่งเร้า เช่น เจตคติ ความคิด ความเห็นใจ ฯลฯ
             2. ใช้หลักการรู้ตัวเป็นเกณฑ์ในการจัดประเภท โดยแบ่งพฤติกรรมออกเป็นพฤติกรรมจิตสำนึก และพฤติกรรมจิตใต้สำนึก
             3. ใช้หลักการยอมรับทางสังคมเป็นเกณฑ์ในการจัดประเภท โดยแบ่งพฤติกรรมออกเป็น พฤติกรรมที่พึงประสงค์ เป็นพฤติกรรมที่สังคมยกย่องว่า ดี ถูก ควรกระทำ เช่น ทำตามกฎหมาย และพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เป็นพฤติกรรมที่กระทำแล้วสังคมประณามว่า เลว ผิด ไม่ควรกระทำ เช่น ลักขโมย มีหนี้สิน ฯลฯ
             กระบวนการเกิดพฤติกรรม หรือการปรับตัว ได้มีนักวิชาการสรุปไว้ว่า การจัดจำแนกแนวคิดด้านความรู้สึกที่เป็นชิ้นเป็นอันพอเชื่อถือได้ เป็นงานรวบรวมของ Krathwohl, Bloom, and Masia (1964, p. 120-130) กลุ่มนี้ลำดับมโนภาพของการเกิดความรู้สึก เริ่มจากการเกิดความสนใจมาเป็นอันดับแรก ตามด้วยความซาบซึ้ง เจตคติ ค่านิยม และการปรับตัว แต่ถ้ามองในลำดับความรู้สึกเป็นขั้น ๆ จะเริ่มจากการรับรู้ การตอบสนอง การรู้คุณค่า การจัดระบบคุณค่า และการสร้างลักษณะจากนิสัย จากผลการวิจัย ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้น มี 3 ประการ คือ การตระหนักรู้ (awareness) การจูงใจ (motivation) และความฉลาดทางอารมณ์ (emotional quotient) ซึ่งการติดตามตนเอง(self-monitoring) ในการตระหนักรู้เป็นกุญแจแห่งความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในระยะ ยาว  (Nowack, 2001, p. 3)
             ตามแนวทฤษฎีการเรียนรู้ทางปัญญา (social cognitive theory) ของ Bandura (1986. p. 18-21) มีความเห็นว่า พฤติกรรมของบุคคลเปลี่ยนแปลงไม่ได้เป็นผลมาจากสภาพ แวดล้อมแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่มีผลมาจากกระบวนการทางปัญญาด้วยกล่าวคือ ถ้ากระบวนการทางปัญญาเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคคลก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วยซึ่ง Bandura ได้เสนอวิธีที่จะเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางปัญญา หรือพฤติกรรมภายใน คือ การเรียนรู้จากการสังเกต การกำกับตนเอง และการรับรู้ความสามารถของตน
           

บรรณานุกรม

เกื้อ วงศ์บุญสิน. (2547). ประชากรศาสตร์ทรัพยากรมนุษย์. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

กาญจนา ไชยพันธุ์. (2547). กระบวนการกลุ่มทางการศึกษา (พิมพ์ครั้งที่ 2). ขอนแก่น:
มหาวิทยาลัยขอนแก่น, คณะศึกษาศาสตร์.

ปราณี รามสูตร และจำรัส ด้วงสุวรรณ. (2545). พฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ธนะการพิมพ์.

สมิต อาชวนิจกุล. (2535). การพัฒนาตนเอง ภาค 2 (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ดอกหญ้า.

ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ. (2546). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์บทสังเคราะห์ภาพรวมการพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับคนจน และคนด้อยโอกาสในสังคมไทย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เอดิสันเพรสโปรดักส์.

ประทีป จินงี่. (2540). การวิเคราะห์พฤติกรรมและการปรับพฤติกรรม. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธุ์. (2540). การประเมินผลโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง.

Bandura, A. (1986). Social foundations of thought and action. Englewood
Cliffs, NJ: Prentice-Hall.

Bloom, B. S. (1956). Taxonomy of educational objectives. New York: Longman.

Nowack, M. K. (2001). Executive coaching: How to successfully changebehavior. Retrieved July 28, 2004, from http://www.stressinventory.com/download/coachingmanuscript2001.pdf

สืบค้นเมื่อ วันที่ 5 กรกฎาคม 2554

ที่มา http://www.idis.ru.ac.th