วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตนเอง

  คำว่า “ตัวตน” ในความหมายโดยทั่วไปแล้ว คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ประกอบขึ้นเป็นบุคคล ในทางพระพุทธศาสนา ตัวตนประกอบด้วย จิตและกาย ทั้งสองส่วนทำงานประสานกันโดยจิตเป็นตัวรับสั่งการ กายเป็นส่วนของการปฏิบัติตามคำสั่งของจิต ซึ่งมีคำกล่าวว่า “จิตเป็นกายนายเป็นบ่าว” ดังนั้น ตัวตนจึงเป็นเรื่องของ มโนกรรม วจีกรรมและกายกรรม หากพิจารณาตัวตน ในแง่ของการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ตัวตนปรากฏในหลายลักษณะ คือ การพิจารณาตัวตนตามการรับรู้ของตนเอง ตามที่ตนเองอยากให้เป็นตามการรับรู้ของผู้อื่น ตามที่ผู้อื่นอยากให้เป็น และตามที่เป็นจริง นั่นคือ โครงสร้างตัวตนนั้นเกิดความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันของบุคคลกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเป็นผลมาจากการประเมินสัมพันธภาพกับผู้อื่น ดังที่ Sullivan กล่าวว่า “เด็กเห็นตนเองตามที่ผู้อื่นเห็นเขา” ถ้าเด็กได้รับคำชมบ่อย ๆ ว่า ตั้งใจเรียนและมีความขยันหมั่นเพียร เขาก็จะสร้างตนขึ้นมาว่าเป็นคนตั้งใจเรียน และขยันเรียน แล้วรักษาเอาไว้ในตัวเขา โครงสร้างของตัวตนนี้ คือ แบบของการรับรู้เกี่ยวกับตนเอง (ชูชีพ อ่อนโคกสูง, 2552)
             ดังนั้น ในการพัฒนาตนเองของบุคคลนั้น จะต้องพัฒนาคุณลักษณะที่เกี่ยวข้อง คือ การใช้บรรยากาศที่เอื้อต่อการพัฒนา การเห็นคุณค่าในตนเองของผู้รับการฝึกอบรมการพัฒนาสติปัญญา โดยผ่านกิจกรรมกลุ่มและการสนทนาร่วมกัน ในการจัดกิจกรรมจะต้องคำนึงถึงผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นสำคัญ โดยการจัดระดับการนำตนเองของผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากการนำตนเองระดับน้อย จนถึงการนำตนเองระดับมาก มีรายละเอียดการพัฒนาคุณลักษณะต่าง ๆ
             แนวคิดเกี่ยวกับการเห็นคุณค่าในตนเอง บุคคลที่เห็นคุณค่าในตนเอง สามารถใช้ศักยภาพที่ตนมีอยู่ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งการพัฒนาคุณลักษณะการเห็นคุณค่าในตนเอง จะช่วยให้ผู้รับการฝึกอบรมเกิดความเชื่อมั่นในตนเองที่จะกระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ในกระบวนการฝึกอบรมเป็นส่วนสำคัญสำหรับการพัฒนาฉันทะของบุคคลการเห็นคุณค่า ในตัวเอง (self-esteem) นั้นยังไม่พบว่า มีใครให้หมายถึงที่แน่ชัดนัก แต่ในความคิดนั้น การเห็นคุณค่าในตัวเองนั้น จะหมายถึง บุคคลที่มีภาพพจน์ที่ดีต่อตัวเอง มีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง มีความซื่อสัตย์ มีความภูมิใจในผลสำเร็จของงาน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาและรับผิดชอบ ปัญหาที่จะเกิดตามมา เป็นคนที่คนอื่นรักและรักคนอื่น เป็นบุคคลที่ควบคุมตัวเองเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จได้ เราจะเห็นว่าคนที่มี self-esteem สูง หมายถึง คนที่มีความคิด สร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบสูง และซื่อสัตย์ซึ่งจะตรงกันข้ามกับ คนที่มี self-esteem ต่ำ มักจะต้องการพิสูจน์ตัวเองหรือวิจารณ์คนอื่นใช้คนอื่นเพื่อผลประโยชน์ของตัว เอง บางคนอาจจะหยิ่ง หรือดูถูกผู้อื่น มักจะไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ไม่มั่นใจว่าตัวเอง จะมีคุณค่า หรือความสามารถ หรือการยอมรับ ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่กล้าที่จะทำอะไร เนื่องจากกลัวความล้มเหลว คนกลุ่มนี้มักจะวิจารณ์คนอื่นมากกว่าที่จะกระทำ ด้วยตัวเอง และยังพบอีกว่า คนกลุ่มนี้มักจะชอบความรุนแรง ติดสุรายาเสพติด มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัย คนที่มี self-esteem จะต้องมีความสมดุลของความต้องการผลสำเร็จ หรืออำนาจ และความรู้จักคุณค่า ความมีเกียรติ และความซื่อสัตย์ ซึ่งอาจจะหมายถึงจิตใต้สำนึก และพฤติกรรมนั่นเอง จิตใต้สำนึกของคนที่มี self-esteem จะต้องรู้จักบาปบุญคุณโทษ รู้สิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดี ความซื่อสัตย์ ความมีเกียรติ ส่วนพฤติกรรมของ self-esteem มีความสามารถที่จะคิดแก้ปัญหา เชื่อมั่นในความคิด และความสามารถ ของตัวเอง สามารถ
เลือกวิธีการตัดสินใจที่ถูกต้อง หากสูญเสียความสมดุลก็จะทำให้เกิดปัญหา เช่น หากจิตใต้สำนึกไม่แข็งแรง หรือสมบูรณ์พอ ก็จะทำให้คนเกิดพฤติกรรมเชื่อมั่นตัวเองมากเกินไปหยิ่งยโส ดูถูกคนอื่น หากแต่มีแต่จิตใต้สำนึกที่ดี แต่ไม่มีความมุ่งมั่นที่จะประสบผลสำเร็จชีวิตก็อาจจะไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้ง ไว้ (ชูชีพ อ่อนโคกสูง, 2552)           
             ความหมายของการเห็นคุณค่าในตนเอง การเห็นคุณค่าในตนเอง คือ ความรู้สึกมั่นใจในตนเอง และความพึงพอใจในตนเอง ความรู้สึกนี้เกิดจาก 5 องค์ประกอบ ดังนี้ (ชูชีพ อ่อนโคกสูง, 2552)
             1. ความรู้สึกปลอดภัยทางกาย ได้แก่ รู้สึกปลอดจากภัยที่จะเกิดขึ้นกับกายตนเช่น ไม่ถูกทำร้าย ไม่ถูกทุบตี ไม่ถูกลงโทษทางกาย เป็นต้น ทำให้ไม่รู้สึกหวาดกลัว จึงพัฒนาความรู้สึกมั่นใจในตนเองขึ้น
             2. ความมั่งคงทางอารมณ์ ได้แก่ รู้สึกไม่ถูกลบหลู่ ทำให้ขายหน้า ดูถูกดูหมิ่นได้รับความยุติธรรม เสมอต้นเสมอปลาย
             3. ความมีเอกลักษณ์ ได้แก่ รู้จักและเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง แล้วนำความรู้ความสามารถที่แท้จริงที่มีอยู่นั้น ไปใช้ให้ประสบความสำเร็จ และมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น
             4. ความเป็นเจ้าของ ได้แก่ การยอมรับจากผู้อื่น ทำให้สร้างความสัมพันธ์ใหม่กับผู้อื่นได้อย่างง่ายดาย เริ่มพัฒนาความเป็นอิสระ และการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
             5. ความสามารถ ได้แก่ เชื่อมั่นในความสามารถของตนที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ได้สำเร็จทำให้เกิดความมานะพยายามที่จะเรียน หรือทำสิ่งใหม่จนกว่าจะประสบความสำเร็จและเกิดความเชี่ยวชาญ ความสามารถนี้จำแนกออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่
                5.1 ความสามารถทางวิชาการ
                5.2 ความสามารถทางกีฬา
                5.3 ความสามารถที่ทำให้สังคมยอมรับ
                5.4 ความสามารถในการกระทำหรือการปฏิบัติ
                5.5 ความสามารถทางกายภาพที่ปรากฏ เช่น รูปร่าง หน้าตา ลักษณะท่าทางและอื่น ๆ เป็นต้น
             การเห็นคุณค่าในตนเองของบุคคล จำต้องได้รับการพัฒนามาตั้งแต่เด็ก ๆ โดยทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย ให้มีความมั่นคงทางอารมณ์ ให้สามารถค้นพบเอกลักษณ์ของตนเองปฏิบัติต่อเด็กด้วยความรักความอบอุ่น เชื่อหรือไว้วางใจซึ่งกันและกัน ตลอดจนให้เด็กได้มีโอกาสกระทำสิ่งต่าง ๆ ตามที่เด็กมีความสามารถ เพื่อประสบความสำเร็จในสิ่งที่ทำซึ่งเด็กจะรู้สึกเชื่อมั่นและพึงพอใจในตน เอง คือ เห็นคุณค่าในตนเองได้ในที่สุด (ชูชีพอ่อนโคกสูง, 2552)           
             จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า การเห็นคุณค่าในตนเอง สรุปได้ว่า คือ ความรู้สึกที่บุคคลเห็นคุณค่าในตนเอง หรือมีความภาคภูมิใจในตนเอง ซึ่งได้รับการสั่งสมมาตั้งแต่วัยเด็กจากประสบการณ์ และบุคคลที่ได้ปฏิสัมพันธ์ เช่น ครอบครัว เพื่อน หรือสังคมสภาพแวดล้อมทำให้เราเห็นคุณค่าในตนเองมีระดับสูงขึ้น ซึ่งระดับการเห็นคุณค่าในตนเองสามารถพิจารณาได้จากความสามารถ ความสำเร็จ ความสำคัญ ความเชื่อและความมีคุณค่าในตนเอง อัตมโนทัศน์มีความสัมพันธ์กับความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเอง ความเชื่อมั่นในตนเอง แล้วการนับถือตนเองบุคคลที่เห็นค่าในตนเองสูง จะมีความเชื่อมั่นในตนเอง มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง และยังเข้าใจยอมรับคุณค่าในตัวเองของผู้อื่นด้วย

บรรณานุกรม

เอกสิทธิ์ สนามทอง. ว่าที่ร้อยตรี.  (2552). การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฉันทะทางการเรียนของนักศึกษาสถาบันอุดม ศึกษาเอกชนในเขตกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ชูชีพ อ่อนโคกสูง. (2552). การเห็นคุณค่าในตนเอง: Self-esteem. ค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2552, จาก http://www.swuaa.com/webnew/index.php?option=com_content&view=article&id=188:--self-esteem&catid=56:2009-02-24-06-15-59&Itemid=57

สืบค้นเมื่อ วันที่ 9 สิงหาคม 2554

ที่มา http://www.idis.ru.ac.th