วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

โยนิโสมนสิการกับหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับฉันทะ

         โยนิโสมนสิการกับหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับฉันทะ องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดฉันทะทางบวก หรือกุศลธรรมฉันทะ ก็คือ โยนิโสมนสิการ จัดว่าเป็นองค์ประกอบฝ่ายใน เพราะมาจากปัจจัยภายในตัวบุคคล เป็นแนวคิดที่ใช้ประโยชน์ได้ในทุกเรื่องโดยเฉพาะการดำเนินชีวิตประจำวัน การทำงาน การเรียน เป็นต้น คนที่มีโยนิโสมนสิการจะช่วยตัวเองได้ มีการคิดอย่างถูกวิธี คิดอย่างมีระเบียบ ไม่มองสิ่งต่าง ๆ อย่างผิวเผินรู้จักมอง ทำให้สามารถมองเห็นด้านที่เป็นประโยชน์มาใช้ในการส่งเสริมความเจริญงอกงาม ให้กับตนเอง ผู้อื่นและสังคม ได้มากกว่า (พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต), 2533, หน้า 144)
             โยนิโสมนสิการ จากการแปลรูปศัพท์แล้ว หมายถึง การกระทำในใจโดยแยบคายเมื่อขยายความแล้ว หมายถึง การใช้ความคิดอย่างถูกวิธี เป็นการรู้จักมอง รู้จักพิจารณาสิ่งต่างโดยมองตามที่สิ่งนั้น ๆ ตรงความเป็นจริง และโดยวิธีคิดหาเหตุผลสืบค้นถึงต้นเค้าสืบสาวตลอดสายแยกแยะสิ่งนั้น ๆ หรือปัญหานั้น ๆ ออกให้เห็นตามสภาวะและตามความสัมพันธ์สืบทอดแห่งเหตุปัจจัย โดยไม่เอาความรู้สึกด้านตัณหาเข้าจับ (พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต), 2538, หน้า 621) หรือสามารถสรุปได้ว่า คิดถูกวิธี คิดมีระเบียบ คิดมีเหตุผลคิดเร้ากุศล หน้าที่ของโยนิโสมนสิการ ก็คือ ความคิดที่สกัดอวิชชาตัณหาหรือการคิดเพื่อสกัดไม่ให้อวิชชาและตัณหาเกิด โดยธรรมชาติของปุถุชนทั่วไป เมื่อรับรู้สิ่งใดก็เกิดคิดว่าชอบใจหรือไม่ชอบใจทันที โยนิโสมนสิการจะทำหน้าที่ไม่ให้เกิดขั้นตอนนี้ แต่จะพิจารณา
             ตามสภาวะตามเหตุปัจจัย เป็นตัวนำกระบวนความคิดบริสุทธิ์ คิดอย่างเป็นลำดับ ทำให้เข้าใจความจริง ทำให้เกิดกุศลธรรม วางใจวางท่าที และปฏิบัติต่อสิ่งนั้น ๆ ได้เหมาะสมดีที่สุด โยนิโสมนสิการทำให้คนเป็นผู้ใช้ความคิด นำความคิดนั้นมาแก้ไขปัญหาทำให้เกิดความสุข (พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต), 2542ข, หน้า 29) ดังนั้น คนที่มีโยนิโสมนสิการจะทำให้ทำสิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้องเหมาะสม และโยนิโสมนสิการ กระทำให้ฉันทะที่เกิดขึ้นเป็นฉันทะฝ่ายบวก หรือกุศลธรรมฉันทะ มีความรักในงานที่ทำ เมื่อรับรู้สิ่งใดก็คิดพิจารณา
             ตามเหตุปัจจัย มีความพอใจในผลที่มาจากกระทำที่ถูกต้อง มีความใฝ่รู้ใฝ่ดี ทำให้เป็นบุคคลที่พึ่งตนเองและนำตนเองได้ หรือสามารถที่จะพัฒนาเองได้ต่อไป
แนวความคิดเรื่องโยนิโสมนสิการ มีวิธีการคิดแบบโยนิโสมนสิการ มี 10 วิธี ดังนี้ (พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต), 2542ข, หน้า 30-37)
             1. วิธีคิดแบบสืบสาวปัจจัย คือ การพิจารณาปรากฏการณ์ที่เป็นผลให้รู้จักสภาวะที่เป็นจริง หรือพิจารณาปัญหา หาหนทางแก้ไขด้วยการค้นหาสาเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ที่สัมพันธ์ส่งผลสืบทอดกันมาโดยแนวปฏิบัติ ดังนี้ การคิดแบบปัจจัยสัมพันธ์ คือ สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดขึ้น การคิดแบบสอบสวนหรือตั้งคำถามถึงสาเหตุของสิ่งต่าง ๆ
             2. วิธีคิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ เป็นการคิดที่มุ่งให้มองและให้รู้จักสิ่งต่าง ๆ ทั้งหลายตามสภาวะของมันเอง เช่น พิจารณาบุคคลว่า มีองค์ประกอบที่เรียนว่า ขันธ์ 5 ที่เกิดจากส่วนประกอบอื่น ๆ การคิดเช่นนี้ จะช่วยให้บุคคลเห็นความไม่เที่ยง ไม่คงที่
และไม่ยั่งยืนของสิ่งต่าง ๆ
             3. วิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา คือ การมองอย่างรู้เท่าทันความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายซึ่งจะต้องเป็นอย่างนั้น ๆ ตามธรรมของมันเอง และเป็นไปตามเหตุปัจจัย อาการที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นจากปัจจัยปรุงแต่ง โดยที่บุคคลยึดติดอนัตตา
             4. วิธีคิดแบบแก้ปัญหา คือ เรียกอีกอย่างว่า วิธีแห่งความดับทุกข์ เป็นวิธีที่สามารถขยายได้ครอบคลุมวิธีคิดแบบอื่น ๆ ทั้งหมด วิธีคิดแบบแก้ปัญหามีลักษณะทั่วไป 2 ประการคือ เป็นวิธีคิดตามเหตุและผลหรือเป็นไปตามเหตุและผล สืบสาวจากผลไปหาสาเหตุแล้วแก้ไข และทำการที่ต้นเหตุกับเป็นวิธีคิดที่ตรงจุด ตรงเรื่อง ตรงไปตรงมา มุ่งตรงต่อสิ่งที่จะต้องทำ ต้องปฏิบัติ ต้องเกี่ยวข้องกับชีวิต หลักการสำคัญของการคิดแบบแก้ปัญหา คือ การเริ่มต้นจากปัญหาหรือความทุกข์ที่ประสบอยู่ โดยกำหนดรู้และทำความเข้าใจกับ
             ปัญหานั้นให้ชัดเจน แล้วสืบสาวค้นหาสาเหตุ เพื่อเตรียมแก้ไขปัญหาในเวลาเดียวกันกำหนดเป้าหมายของตนให้แน่ชัด ว่าคืออะไร จะเป็นไปได้หรือไม่ และจะเป็นอย่างไรแล้วคิดวางวิธีปฏิบัติที่จะกำจัดสาเหตุของปัญหา โดยสอดคล้องกับการที่จะบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
             5. วิธีคิดแบบสัมพันธ์ตามหลักการกับจุดมุ่งหมาย คือ พิจารณาให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างธรรมกับอรรถ หรือหลักการกับจุดมุ่งหมาย เพื่อเมื่อลงมือปฏิบัติจะได้ทำตามหลักการและจุดมุ่งหมาย โดยไม่ทำอย่างเลื่อนลอยหรืองมงาย
             6. วิธีคิดแบบเห็นคุณโทษและทางออก หรือพิจารณาให้เห็นครบทั้งส่วนดีที่เป็นคุณค่า และส่วนเสียที่เป็นโทษ แล้วภาวะที่ปราศจากปัญหา ซึ่งเป็นวิธีการมองสิ่งต่าง ๆ ทั้งหลายตามความเป็นจริง และเน้นการยอมรับความจริงที่สิ่งนั้น ๆ เป็นอยู่ทุกด้าน เป็นวิธีคิดที่ต่อเนื่อง
             7. วิธีคิดแบบเห็นคุณค่าแท้คุณค่าเทียม คือ การใช้สอยบริโภค หรือวิธีคิดแบบสกัดหรือบรรเทาตัณหา เป็นขั้นฝึกขัดเกลาหรือตัดทางไม่ให้กิเลสเข้ามาครอบงำจิตใจ วิธีคิดแบบนี้ ใช้มากในชีวิตประจำวัน เพราะเกี่ยวข้องกับการใช้ปัจจัย 4 และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สิ่งใดที่สนองความต้องการของเรา สิ่งนั้นย่อมมีคุณค่าแก่เรา คุณค่านี้จำแนกออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
                7.1 คุณค่าแท้ หมายถึง คุณค่า หรือประโยชน์ของสิ่งทั้งหลายที่มนุษย์นำมาใช้แก้ปัญหาของตน เพื่อความดีงาม ความดำรงอยู่ด้วยดีของชีวิต หรือเพื่อประโยชน์สุขทั้งของตนเองและผู้อื่น คุณค่าอาศัยปัญญาเป็นเครื่องมือในการประเมินค่าความเป็นคุณค่าที่แท้
                7.2 คุณค่าเทียมหรือคุณค่าเสริม หมายถึง คุณค่าหรือประโยชน์ของสิ่งทั้งหลายที่มนุษย์พอกเพิ่มให้แก่สิ่งนั้น ๆ เพื่อสนองความต้องการของตนเอง คุณค่าเทียมนี้อาศัยตัณหาเป็นเครื่องวัดความเป็นคุณค่าเทียม
             8. วิธีคิดแบบเร้าคุณธรรม หรือวิธีคิดแบบเร้ากุศลหรือเร้าคุณธรรม เป็นวิธีคิดในแนวสกัดหรือบรรเทาและขัดเกลาตัณหา เป็นข้อปฏิบัติระดับต้น ๆ สำหรับการส่งเสริมความเจริญงอกงามแห่งกุศลธรรม หลักการคิดของวิธีนี้ คือ เมื่อประสบเหตุการณ์ใด ๆ หรือกับสิ่งใดก็ตามให้บุคคลคิด และจงกระทำสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ขณะนั้น ๆ เพราะจะช่วยให้เกิดการสร้างนิสัยความเคยชินใหม่ ๆ ที่ดีงามให้แก่จิตใจ และลดความเคยชิน
ที่ร้าย ๆ ลงไป
             9. วิธีคิดแบบอยู่ในปัจจุบัน เป็นการมองอีกด้านหนึ่งของการคิดแบบอื่น ๆ โดยมีลักษณะการคิด เป็นลักษณะความคิดชนิดที่ไม่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือ ความคิดที่เกาะติดกับอดีตและเลื่อนลอยไปในอนาคต หรือแนวความคิดของตัณหา เพราะไม่พึงพอใจในสภาพปัจจุบันที่เป็นอยู่ จึงหนีไปอยู่กับอดีตหรืออนาคต ส่วนความคิดที่เป็นปัจจุบัน คือคิดในแนวทางของความรู้ หรือความคิดด้วยอำนาจแห่งปัญญา คำว่า ปัจจุบันในทางธรรมหมายถึง มีสติรู้เท่าทันสิ่งที่รับรู้เกี่ยวข้องหรือต้องทำอยู่ในเวลานั้น ถ้าจิตรับรู้สิ่งใดแล้วเกิดความชอบใจหรือไม่ชอบใจ ขึ้นอยู่กับสภาพของสิ่งนั้น ก็คือ การตกอยู่ในอดีตและหลุดจากปัจจุบันแล้ว ฉะนั้น ปัจจุบันจึงมิได้มีความหมายตามที่คนทั่วไปเข้าใจ
             10. วิธีคิดแบบแยกประเด็น วิธีคิดนี้ไม่ใช่วิธีคิดโดยตรง แต่เป็นวิธีพูดหรือการแสดงหลักการแห่งคำสอนแบบหนึ่ง คือ การมองและแสดงความจริงโดยแยกแยะออกให้แต่ละแง่แต่ละด้านแบบครบทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่จับเอาแง่ใดแง่หนึ่งขึ้นมาวินิจฉัยตีความคลุมลงไป หรือประเมินค่าความดีความชั่วโดยถือเอาส่วนเดียว หรือบางส่วนเท่านั้นมาเป็นตัวตัดสิน
             ดังนั้น แนวคิดตามหลักธรรมโยนิโสมนสิการเป็นการใช้ความคิดอย่างถูกต้องตามวิธีการตาม ความหมายต่าง ๆ ที่ได้นำเสนอในช่วงต้นและเมื่อมาเทียบในกระบวนการพัฒนาปัญญา โยนิโสมนสิการจึงอยู่ในระดับที่เหนือกว่าวิธีการแห่งศรัทธาหรือปรโตโฆสะ เพราะปรโตโฆสะนั้นเป็นขั้นที่เริ่มต้นใช้ความคิดของตนอย่างมีอิสระ การกระทำให้เกิดฉันทะนั้น จะต้องอาศัยปัญญา ดังคำกล่าวที่ว่า “ฉันทะจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อเริ่มมีการใช้สติปัญญา” เนื่องจากความพอใจที่ไม่มีปัญญานั้นอาจจะนำไปสู่ความทุกข์หรือปัญหาอื่น ๆ ได้ปัญญาเกิดขึ้นจากการใช้โยนิโสมนสิการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ อย่างรอบครอบพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (2542, หน้า 45) ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทที่เกี่ยวกับความว่าศรัทธา ปัญญาและฉันทะในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2524 ไว้ว่า“....จะพูดถึงวิธีปฏิบัติงาน ข้อแรก จะต้องสร้างศรัทธาให้เกิดมีขึ้นก่อน เพราะศรัทธาหรือความเชื่อมั่นในประโยชน์ของงานนั้น จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติ คือ ทำให้มีการปฏิบัติด้วยใจในทันที แม้ก่อนที่จะลงมือทำ ดังนั้น ไม่ว่าจะทำการใด ๆ จึงต้องสร้างศรัทธาขึ้นก่อน และการสร้างศรัทธานั้น จึงจำเป็นต้องทำให้ถูกต้องด้วยศรัทธาที่พึงประสงค์จะต้องไม่เกิดจากความ เชื่อง่าย ใจอ่อน และปราศจากเหตุหากจะต้องเกิดขึ้นจากความเพ่งพินิจพิจารณา และใคร่ครวญแล้วด้วยความคิดจิตใจที่หนักแน่นสมบูรณ์ด้วยเหตุผล จนถ่องแท้ถึงคุณค่าและประโยชน์อันแท้จริงในผลของปฏิบัติที่จะบังเกิดตามมา ศรัทธาในลักษณะนี้ เมื่อบังเกิดขึ้นแล้ว ย่อมน้อมนำมาซึ่งฉันทะ ความพอใจ ความกระตือรือร้น ขวนขวาย ตลอดจนความฉลาดและริเริ่มให้เกิดขึ้นเกื้อกูลกันอย่างพร้อมเพรียง แล้วสนับสนุนส่งเสริมให้การปฏิบัติงานดำเนินความก้าวหน้าไปโดยราบรื่นจน สัมฤทธิ์ผล”

บรรณานุกรม

เอกสิทธิ์ สนามทอง. ว่าที่ร้อยตรี.  (2552). การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฉันทะทางการเรียนของนักศึกษาสถาบันอุดม ศึกษาเอกชนในเขตกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคำแหง

พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต). (2533). พจนานุกรมศัพท์พุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

พระ ธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต). (2538). พุทธธรรม: ฉบับปรับปรุงและขยายความ (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต). (2542ข). วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ศยาม.

สืบค้นเมื่อ วันที่ 9 สิงหาคม 2554

ที่มา http://www.idis.ru.ac.th