วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

แนวคิด ทฤษฎี ที่เกี่ยวข้องกับฉันทะและการพัฒนาตนเอง

แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับฉันทะ

             ความหมายของหลักธรรมฉันทะ ฉันทะ เป็นหลักธรรมทางเริ่มต้นแห่งความสำเร็จของอิทธิบาท 4 ซึ่งเป็นเหตุหรือเครื่องมือที่นำไปสู่ความสำเร็จ ประกอบด้วย ฉันทะ คือ ความพอใจ วิริยะ คือ ความเพียร จิตตะ คือ ความคิดจดจ่อ และวิมังสา คือ ความสอบสวนไตร่ตรอง ซึ่งสรุปให้จำง่าย ๆ ว่า ตามความหมายโดยภาพรวม คือ “มีใจรัก พากเพียรเอาจิตฝักใฝ่” (พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต), 2542ข, หน้า 842) หากผู้ใดมีฉันทะก็กล่าวได้ว่า ทำงานสำเร็จไปครึ่งหนึ่ง เพราะฉันทะเป็นกำลังผลักดันให้บุคลากรทำงานต่อไปโดยง่าย สะดวก และสนุกสนาน และฉันทะ คือ ความพอใจ ในฐานะเป็นสิ่งที่ ตนถือว่าดีที่สุดที่มนุษย์เราควรจะได้ ข้อนี้ เป็นกำลังใจอันแรกที่ทำให้เกิดคุณธรรม ข้อต่อไป ทุกข้อฉันทะจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาเพื่อการพัฒนาตนหรือต้องการรู้ใน สิ่งต่าง ๆ เพราะถ้ามีฉันทะอยากทำ อยากเรียนรู้ ก็เกิดการอยากศึกษา เมื่อพบปัญหาก็พยายามอย่างไม่ท้อถอยจึงกล่าวได้ว่า ฉันทะเป็นจิตสำนึกของการศึกษา (พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต), 2541,หน้า 45-46)
             พระกวีวรญาณ (จำนง ทองประเสริฐ) (2502, หน้า 423) กล่าวว่า ฉันทะ หมายถึง ความพอใจ ความสนใจ ความชอบใจ การศึกษาวิชาในแขนงใด ๆ ก็ตาม ถ้าวิชานั้นเป็นที่ถูกใจ ชอบใจ และสนใจแล้ว ก็จะศึกษาหรือกระทำให้สำเร็จด้วยดีโดยง่าย ตรงกันข้ามถ้าถูกบังคับให้ศึกษาหรือถูกบังคับให้ทำงานใดก็ตาม การศึกษาหรือการทำให้ได้ดีโดยยากหรือบางครั้งก็อาจจะไม่มีทางสำเร็จเลยก็ได้ ฉะนั้น ความพอใจหรือความสนใจจึงเป็นหลักการเบื้องต้นที่จะนำเราไปสู่ความสำเร็จ
             พระโสภณคณาจารย์ (ระแบบ จิตรวโณ) (2527, หน้า 58) ได้ให้ความหมายของฉันทะ ว่าเป็นความพอใจรักใคร่สิ่งที่กระทำให้บุคคลปลูกฝังความพอใจในการศึกษาเล่า เรียนในหน้าที่การงานและอาชีพ ในการประพฤติปฏิบัติความดีทั้งหลาย แม้ว่าไม่เคยมีความพอใจมาก่อนเมื่อใช้ปัญญาพินิจพิจารณาให้เห็นประโยชน์ เรื่องเหล่านั้นแล้วปลูกฝังความพอใจให้เกิดขึ้น บุคคลไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม มีความพอใจเป็นบันไดขั้นแรกที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการที่กระทำ
             พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต) (2529, หน้า 842-844) กล่าวว่า ฉันทะ หมายถึงความพอใจ ความมีใจรักในสิ่งที่ทำ และพอใจใฝ่รักในจุดหมายของสิ่งที่ทำนั้น ๆ ให้สำเร็จอยากให้งานนั้นหรือสิ่งนั้นบรรลุจุดมุ่งหมาย ความหมายในหลักธรรม คือ ความรัก ความใส่ใจปรารถนาต่อความดีงามที่เต็มเปี่ยมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของสิ่งที่กระทำหรือจะเข้าถึงด้วยการกระทำนั้น หรืออยากให้ภาวะดีงามเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ ของสิ่งนั้น ๆ ของงานนั้นเกิดมีจริงขึ้น อยากทำให้สำเร็จผลตามจุดมุ่งหมายที่ดีงามนั้น ความอยากที่จะเป็นฉันทะนี้เป็นคนละอย่างกับความอยากได้สิ่งนั้น ๆ มาเสพเสวยหรืออยากเอามาเพื่อตัวตนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ตัณหา ความอยากในฉันทะนั้นทำให้เกิดสุขอยากได้ผลตามกฎธรรมชาติ ความชื่นชม เมื่อเห็นสิ่งนั้น งานนั้นบรรลุความสำเร็จเข้าถึงความสมบูรณ์ อยู่ในภาวะที่ดีงามหรือพูดแยกออกไปว่า ขณะเมื่อสิ่งนั้นหรืองานนั้นกำลังเดินหน้าไปสู่จุดหมาย ก็จะได้รับความโสมนัสเป็นความฉ่ำชื่นใจ ที่พร้อมด้วยความรู้สึกปลอดโล่ง ผ่องใส่ เบิกบาน แผ่ออกไปไร้อิสระตนไว้ในความคับแคบ และมักติดตามด้วยความหวงแหน ห่วงกังวล เศร้าเสียดายและหวั่นกลัวหวาดระแวงโดยสรุปแล้ว จากความหมายต่าง ๆ ของหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับฉันทะตั้งแต่ปีพ.ศ. 2502 จนกระทั่งถึงปีปัจจุบันนี้ ความหมายของฉันทะในมุมมองของนักวิชาการด้านพุทธศาสนาย้อนหลังไปไม่ต่ำกว่า 50 ปี ก็ยังมีทิศทางของความหมายที่ไม่เปลี่ยนแปลงดังนั้นผู้วิจัยจึงขอสรุปได้ว่า ฉันทะ คือ ความต้องการที่จะกระทำ อยากเห็นสิ่งที่ดีงามที่ความชื่นชมที่เห็นงามสำเร็จตามเป้าหมาย โดยมีความรักความใฝ่ใจปรารถนาต่อความดีงาม ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของสิ่งที่กระทำหรือจะเข้าถึงด้วยการกระทำนั้นหรืออยาก ให้ภาวะดีงามเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ของสิ่งนั้น ๆ ของงานนั้นเกิดมีจริงขึ้น อยากทำให้สำเร็จผลตามจุดหมายที่ดีงามนั้น ฉันทะที่กล่าวมา คือฉันทะในทางบวก ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นแรงจูงใจให้บุคคลกระทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งควรสร้างเสริมและพัฒนาฉันทะให้เกิดขึ้นในนักศึกษาแรงจูงใจกับการมีฉันทะ ในตนเอง การพัฒนาตนด้านแรงจูงใจ เป็นการพัฒนาผลักดันให้ตนกระทำการต่าง ๆ อย่างมีความมุ่งมั่นเพื่อบรรลุเป้าหมาย โดยผู้ที่มีแรงจูงใจในตนเองทางการเรียนรู้สูง มักจะทุ่มเทพลังกายพลังใจใช้ความสามารถในการเรียนอย่างสุดกำลัง
             การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนด้านแรงจูงใจจึงมีประโยชน์ เพื่อการเข้าใจพฤติกรรมการเรียนของตน ผู้วิจัยจึงได้ศึกษาความหมายของแรงจูงใจ (motivation) โดยมีนักจิตวิทยาได้อธิบายไว้หลายลักษณะ ดังนี้
             Lahey (2001, p. 370) กล่าวว่า การจูงใจเป็นภาวะภายในที่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมทั้งการคิด ความรู้สึก การกระทำเพื่อมุ่งให้บรรลุเป้าหมาย
Spector (2000, p. 176) กล่าวว่า เป็นภาวะภายในที่ผลักดันตัวบุคคลให้แสดงพฤติกรรมเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง
             Luthans (1992, p. 147) กล่าวว่า คือความเต็มใจที่จะใช้พลังเพื่อดำเนินไปตามจุดหมายที่วางไว้ได้สำเร็จ และมีนักวิชาการบางท่านกล่าวว่า แรงจูงใจเป็นกระบวนการของการกระตุ้นให้เกิดการกระทำสนับสนุนความก้าวหน้าของ กิจกรรมที่ทำ และกำหนดแบบแผนของกิจกรรมที่ทำ โดยแสดงออกเป็นพฤติกรรมเพื่อให้พฤติกรรมนั้นไปสู่จุดมุ่งหมาย
             ดังนั้น แรงจูงใจที่มนุษย์ใช้เป็นแรงกระตุ้นหรือแรงขับอาจมาจากภายนอกหรือภายในตัว บุคคลก็ได้ ซึ่งเป็นแรงขับให้ตนทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งจนประสบความสำเร็จจากความต้องการ ของตนแรงจูงใจเมื่อเปรียบเทียบกับพุทธปรัชญาในการกระทำของมนุษย์ ก็จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้ (พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต), 2542ข, หน้า 490)
             1. ความพอใจ ชอบใจ ยินดี รักใคร่ ที่ดีงาม สบาย เกื้อกูล เป็นกุศล เรียกว่า ฉันทะ
             2. ความพอใจ ชอบใจ ยินดี รักใคร่ ที่ไม่ดี ไม่เกื้อกูล เป็นอกุศล เรียกว่า ตัณหามี 3 ประการ ได้แก่
                2.1. กามตัณหา คือ ความกระหาย ความอยากได้อารมณ์ที่ชอบใจมาเสพปรนเปรอตน หรือความทะเยอทะยานอยากในกาม
                2.2. ภวตัณหา คือ ความกระหายอยากในความถาวรมั่นคง มีคงอยู่ตลอดไป
                2.3. วิภวตัณหา คือ ความกระหายอยากได้ในความดับดิ้นสิ้นขาดสูญแห่งตัวตนนอกจากความหมายดังกล่าวแล้ว  พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต) (2542ข, หน้า 491-526) ได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า โดยกระบวนการธรรมทางพระพุทธศาสนา ตัณหาจะนำไปสู่การแสวงหา คือ การไปหา การไปเอา หรือรับเอา หรือหาทางอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะให้ได้ในสิ่งที่ต้องการนั้น ๆ มาเมื่อได้สิ่งนั้น ๆ มาแล้วจะถือว่าจบไปช่วงหนึ่งฉันทะจึงเป็นความต้องการด้านกุศล คือ ต้องการภาวะดีงาม ความรู้ ความเข้าใจในความจริงแท้ ถ้ามีฉันทะเด็กก็ย่อมต้องการความรู้จากหนังสือเล่มนั้น โดยความรู้เป็นผลของการอ่านหนังสือ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผลของการกระทำโดยตรงเป็นตัวบ่งชี้เพื่อกำหนดการกระทำผลก็ย่อมเกิดขึ้น ดังนั้น ฉันทะทำให้เกิดการกระทำและทำให้เกิดความต้องการที่จะทำหรือทำให้อยากทำ เด็กก็อ่านหนังสือได้เองโดยที่พ่อไม่ต้องล่อด้วยการพาไปดูหนังการที่มีฉันทะ เป็นแรงจูงใจในการการะทำก่อให้เกิดผลในทางจริยธรรม ส่วนตัณหาทำให้ผลทางปฏิบัติแตกต่างกัน คือ เกิดความทุกข์ การกระทำเป็นเพียงเงื่อนไขสำหรับไปได้สิ่งที่ต้องการ หรือไม่ต้องการกระทำ และผลของการกระทำนั้นโดยตรง หรือถ้าไม่ต้องทำได้ ก็จะหลีกเลี่ยงการกระทำนั้นเสีย เพราะการได้มาโดยไม่ต้องการนั้นตรงกับความต้องการของตัณหามากที่สุด และถ้าจำเป็นที่ต้องกระทำโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้นจะกระทำด้วยความรังเกียจจำ ใจ ไม่เต็มใจ และไม่ตั้งใจ พฤติกรรมที่เกิดจากตัณหาจึงปรากฏ ดังนี้
             1. พยายามหลีกเลี่ยงการกระทำที่เป็นเงื่อนไข อาจใช้วิธีลัดหรือวิธีอื่นใดซึ่งง่ายที่จะได้สิ่งที่ต้องการโดยไม่ต้องกระทำ เช่น การทุจริต ลักขโมย ไม่มีความอุตสาหะ
             2. มีแต่ตัณหาที่อยากได้ แต่ไม่มีฉันทะที่อยากทำจึงทำงานที่เป็นเงื่อนไขด้วยความไม่เต็มใจ ไม่ตั้งใจ ทำพอให้เสร็จ หรือทำที่ได้ทำแล้ว ผลก็คือ ไม่มีความประณีตหรือความดีเลิศของงาน และเพราะนิสัยที่ไม่ดีให้แก่ผู้ทำเองกลายเป้ผู้ขาดความใฝ่สัมฤทธิ์มักง่าย จับจด เป็นต้น
             3. เมื่อเงื่อนไขหลักมีช่องโหว่ที่เลี่ยงหลบได้ เป็นเหตุให้ต้องสร้างเงื่อนไขรองต่าง ๆ เข้ามาควบคุมป้องกัน ซึ่งเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุทำให้เกิดระบบต่าง ๆ ที่ซับซ้อนสับสน เช่น ต้องหาคนมาตรวจสอบ ควยคุมการทำงาน สำรวจเวลาเข้างาน เป็นต้น และยิ่งถ้าตัณหาเข้าไปครอบงำพฤติกรรมการปฏิบัติเงื่อนไขรองได้อีก ความทุจริตหละหลวมปัญหาเกิดขึ้นมากมาย จนทำให้ระบบทั้งระบบเสียไปหมด
             ส่วนบุคคลที่มีฉันทะเป็นแรงจูงใจ ต้องการภาวะที่เป็นผลของการกระทำซึ่งตรงกับเหตุให้บุคคลมีความอยากกระทำ ดังนั้น ผลที่ตามมาจึงตรงกันข้ามกับบุคคลที่มีตัณหาเป็นแรงจูงใจผลของพฤติกรรมที่ เกิดจากมีแรงฉันทะเป็นแรงจูงใจ มีดังนี้
             1. ทำให้เกิดความสุจริต ความขยัน ความอดทน ความซื่อตรงต่องานและซื่อตรงต่อเหตุผลที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ไม่ทำให้เกิดความทุจริต
             2. ทำให้ตั้งใจทำงานนำไปสู่ความประณีต ความดีเลิศของงาน เพราะนิสัยใฝ่สัมฤทธิ์ทำจริงจัง และสู้งาน
             3. มีความร่วมมือร่วมใจในการทำงาน การประสานงานและการมีส่วนร่วมเพราะทุกคนต่างมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน มิใช่มุ่งสนองตัณหาส่วนตนจนคอยแก่งแย่งชิงกันจ้องจับผิดซึ่งกันและกัน
             4. จากการกระทำเพื่อผลของงาน ผลที่ได้รับจึงสอดคล้องกับตัวกำหนด หรือตัวบ่งชี้ปริมาณและคุณภาพของงาน ดังนั้น จึงเกิดความพอเหมาะพอดีระหว่างการกระทำกับผลที่พึงประสงค์
             5. เนื่องด้วยบุคคลที่กระทำด้วยฉันทะต้องการผลของการกระทำโดยตรง ทำให้บุคคลนั้นประจักษ์ถึงผลเกิดที่ต่อเนื่องไปกับการกระทำ การกระทำก่อให้เกิดผลที่เขาต้องการให้เขารับความพึ่งพอใจ ความอิ่มใจ ความสุขและความสงบตั้งมั่นของจิตใจ
             ด้วยเหตุนี้ ฉันทะจึงถูกจัดเข้าเป็นอิทธิบาท (ทางแห่งความสำเร็จ) อย่างหนึ่ง อิทธิบาทเป็นหลังสำคัญในการสร้างสมาธิ ฉันทะจึงทำให้เกิดสมาธิ (ภาวะจิตมีอารมณ์เดียว) ที่ส่งเสริมสุขภาพจิตให้จิตมีความสดใส สุขสงบ ปลอดโปร่ง ฉันทะไม่ก่อให้เกิดทุกข์ ไม่ทำให้เกิดปัญหาในใจ เพระไม่ว่าการกระทำนั้นสำเร็จผลหรือไม่ก็ตาม จะเป็นไปตามเหตุผล เหตุเท่าใดผลก็เท่านั้น
             สิ่งเร้าที่กำหนดพฤติกรรมรวมทั้งตัณหาและฉันทะ บางครั้งทั้งตัณหาและฉันทะก็เข้ามาร่วมกำหนดพฤติกรรมด้วยกัน เช่น กรณีของความหิว ในกรณีนี้ โยนิโสมสิการจะคิดว่า การกินเป็นการกระทำเพื่อผลอะไร และรู้ว่าการกินเป็นการกระทำเพื่ให้ร่างกายได้รับอาหารไปซ่อมเสริมร่างกาย ทำให้ร่างกายมีสุขภาพดีไม่มีโรค ไม่ใช่กินอาหารเพื่อความอร่อย เพื่อความสนุกสนานมัวเมาหรือโก้เก๋หรูหรา เป็นต้น โยนิโสมนสิการนี้มิใช่แรงจูงใจโดยตัวมันเอง แต่เป็นปัจจัยให้เกิดแรงจูงใจ ฝ่ายกุศลหรือฉันทะเป็นฉันทะเกิดโยนิโสมนสิการก็เข้ามาร่วมกำหนดพฤติกรรมการ กิน โดยเกิดแทรกซ้อนสลับกับตัณหานับว่าเป็นตัวต้านกันปัญหา
             ลักษณะของตัณหานั้น เป็นแรงเล้าหรือแรงจูงใจให้กระทำตามเงื่อนไง บางครั้งเมื่อไม่ได้เสพเวทนาอันพึงพอใจก็จะไม่ยอมเร้า หรือจูงใจให้กระทำ หรือจูงใจไม่ให้กระทำแม้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นไปเพื่อผลที่พึงประสงค์ เช่น เวลาที่ป่วยไข้ร่างกายต้องการยามารักษา ฉันทะกลับจูงใจให้กินยา กินอาหาร ยิ่งฉันทะเข้มมากเท่าใด จิตใจก็ยิ่งเข้มแข็งขึ้นฉันทะหนุนวิริยะ และทำให้เกิดสมาธิ) คนไข้บางคนมิได้คำนึงถึงเหตุผลเพื่อให้เกิดฉันทะแต่ใช้วิธีเร้าปัญหามาทำให้ เกิดความรู้สึกกลัวตาย และปกป้องตัวเองก็ทำให้กินอาหารและยาได้เหมือนกัน การกระทำเช่นนี้ ทำให้จิตใจทุรนทุราย แม้ว่าจะได้ผลเช่นเดียวกับการกระทำด้วยฉันทะ การตัดวงจรการเกิดตัณหา จำเป็นต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับสิ่งนั้นเสียดังนั้น การใช้โยนิโสมนสิการจึงทำให้เกิดฉันทะขึ้น ซึ่งอาจทำหน้าที่ชักนำความคิดให้เดินตามฉันทะที่เคยปลูกฝังมาแล้ว หรืออาจต้องพิจารณาสิ่งต่าง ๆ จนโยนิโสมนสิการเกิดก็สามารถตัดตอนการเกิดตัณหาและฉันทะก็เกิด เมื่อเกิดฉันทะแล้วก็เกิดอุตสาหะหรือความเพียร
             ในทางปฏิบัตินั้น ตัณหาและฉันทะสามารถเกิดแทรกซ้อนกันได้เป็นปัจจัยเกิดของกันและกันได้เช่นกัน สรุปได้ว่า
             1. เป็นธรรมดาของบุคคลที่มีตัณหาเป็นพื้นฐาน และตัณหาสามารถเกิดขึ้นได้เสมอไม่ว่าเวลาใดที่ปล่อยโอกาสหรือเผลอ
             2. ตัณหาเกิดขึ้นย่อมนำความทุกข์ และปัญหามาให้ จึงสมควรละหรือกำจัดเสีย
             3. บุคคลไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงตัณหาได้ ดังนั้น น่าจะทำให้ตัณหาก่อประโยชน์จนก่อให้เกิดฉันทะ แล้วละตัณหาเสีย ตัณหาสามารถที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้เพื่อเป็นอุบายที่นำไปสู่จุดหมาย เป็นวิธีล่อให้กระทำการที่เป็นเงื่อนไขแล้วใช้โอกาสระหว่างนั้นค่อย ๆ สร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดความรักความดีงามของผลการกระทำนั้นโดยตรง จนเกิดฉันทะขึ้นเอง แล้วก็จะเปลี่ยนแรงจูงใจและพฤติกรรมของตนเองจนเกิดฉันทะที่ถาวร ถ้าทำได้ถือว่าเป็นความสำเร็จ แต่ถ้าเปลี่ยนตัณหาเป็นฉันทะไม่ได้ก็ถือว่าเป็นความล้มเหลว การล่อเร้าด้วยสิ่งอื่นที่มิใช่ผลของการกระทำโดยตรงนั้น ควรใช้อย่างระมัดระวัง เช่น การให้รางวัล ซึ่งในทางการศึกษาจะใช้เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมหรือการเรียนการสอน หรือใช้กันทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น บอกลูกว่าอย่าอ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้ว จะซื้อเครื่องเล่นเกมให้ ที่สำคัญต้องคิดเตรียมไว้ว่าจะชักจูงเด็กเข้าสู่ฉันทะได้อย่างไร จึงจะทำให้เด็กนั้นเกิดความรัก หรือรู้สึกอยากอ่านหนังสือได้เองจากการได้เห็นผลดีของการกระทำ แต่ทางที่ดีผู้ล่อเร้าควรใช้โอกาสนี้ให้เด็กได้ใช้โยนิโสมนสิการในทางที่ เข้าใจคุณค่าของความรู้ เกิดความใฝ่รู้ เกิดมีฉันทะสามารถอ่านหนังสือได้เองโดยไม่ต้องทำตามเงื่อนไขเพื่อรางวัลต่อ ไป การล่อเร้าด้วยตัณหาเช่นนี้ ต้องพึงระวัง เพราะถ้าฉันทะไม่เกิดขึ้นแล้ว ยิ่งทำให้ตัณหาเข้มข้นอีกด้วย เป็นการสร้างนิสัยที่ไม่ดีและเท่ากับเอาเชื้อแห่งความทุกข์และปัญหาไปไว้ใน ชีวิตของเด็ก ในทางพุทธศาสนาแรงจูงใจมี 2 ลักษณะ คือ ตัณหา และฉันทะ ซึ่งฉันทะเป็นแรงจูงใจฝ่ายดี หรือฝ่ายกุศลที่ควรสร้างให้เกิดขึ้นในตัวบุคคลทั่วไป เพราะบุคคลที่มีฉันทะเป็นแรงจูงใจจะต้องมีความต้องการกระทำสิ่งต่าง ๆ ให้ดีงาม ต้องการภาวะที่ดีงาม ต้องการความจริง กระทำสิ่งต่าง ๆ ตามเหตุผลมีความพึงพอใจในผลที่เกิดจากการกระทำที่แท้จริง มิใช่การกระทำตามเงื่อนไขของตัณหา มุ่งเน้นในการเสริมสร้างให้ผู้เรียนเกิดฉันทะทางบวก ซึ่งเป็นแรงจูงใจใฝ่ดี เพราะจะช่วยให้ผู้เรียนมีความต้องการใฝ่รู้ ใฝ่เรียนในทางที่ดี อันก่อประโยชน์หรือพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ที่มีความสามารถในการเรียนรู้ที่ดี เพิ่มศักยภาพทางการเรียนต่อไป สำหรับแรงจูงใจฝ่ายลบหรือตัณหานั้น เป็นฉันทะในทางลบที่ไม่บังเกิดผล ซึ่งควรจะได้ทราบเพื่อความเข้าใจลึกซึ้งต่อไป

บรรณานุกรม

เอกสิทธิ์ สนามทอง. ว่าที่ร้อยตรี.  (2552). การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฉันทะทางการเรียนของนักศึกษาสถาบันอุดม ศึกษาเอกชนในเขตกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคำแหง

พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต). (2542ก). พุทธธรรม. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต). (2542ข). วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ศยาม.

พระกวีวรญาณ (จำนง ทองประเสริฐ). (2502). วิชาศาสนา. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์อาศรมอักษร.

พระโสภณคณาจารย์ (ระแบบ จิตรวโณ). (2527). ธรรมปริทรรศน์. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ศาสนา.

พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต). (2529). พุทธธรรม. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิพุทธธรรม.

Lahey, B. B. (2001). Psychology, an introduction (7th ed.). Chicago: McGraw-Hill.

Luthans, F. (1992). Organizational behavior (6th ed.). New York: McGraw-Hill.

สืบค้นเมื่อ วันที่ 9 สิงหาคม 2554

ที่มา http://www.idis.ru.ac.th