วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

แนวทางการพัฒนาและสร้างเสริมการเห็นคุณค่าในตนเอง

 แนวทางการพัฒนาและสร้างเสริมการเห็นคุณค่าในตนเอง การเห็นคุณค่าในตนเองเป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้ได้ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และพัฒนาให้เกิดขึ้นได้จากประสบการณ์ที่บุคคลได้รับ มีนักวิชาการได้เสนอแนวทางในการพัฒนาการเห็นคุณค่าในตนเอง ไว้ดังนี้
             Brooks (1992, pp. 544-548) ได้เสนอแนวทางในการพัฒนาการเห็นคุณค่าในตนเองของเด็ก ดังต่อไปนี้
             1. พัฒนาความรับผิดชอบและการให้ความช่วยเหลือต่อส่วนรวม
             2. เปิดโอกาสให้คิดทางเลือกและการตัดสินใจแก้ปัญหา
             3. เสริมสร้างวินัยในตนเองโดยการสร้างแนวปฏิบัติและคำนึงถึงผลที่จะเกิดตามมา
             4. ให้การสนับสนุน สร้างกำลังใจ และให้ข้อมูลย้อนกลับด้านบวก
             5. ช่วยให้เด็กยอมรับในความล้มเหลว หรือความผิดพลาดของตนเอง
             สุพัตรา ทาวงศ์ (2007) กล่าวถึงการพัฒนาคุณค่าในตนเอง ดังต่อไปนี้
             1. การยอมรับความรู้สึกของบุคคลตามความเป็นจริง จะช่วยให้เขาสามารถถ่ายทอดความรู้สึกออกมา โดยเฉพาะการยอมรับความรู้สึกทางลบ ความรู้สึกกลัว ความรู้สึกขัดแย้งและความรู้สึกปฏิเสธของบุคคล เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการแสดงความรู้สึกของบุคคลในขณะนั้น
             2. การยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคลในการเผชิญกับปัญหา และวิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน ควรทำความเข้าใจในวิธีการแก้ปัญหาและให้โอกาสแต่ละบุคคลในการแสดงความสามารถ ในการแก้ปัญหา เนื่องจากบุคคลมีความคิดที่เหมาะสมเฉพาะวัยของเขา และมีความรับผิดชอบต่อปัญหาที่เขาต้องเผชิญอยู่แล้ว นอกจากนี้ การให้โอกาสเขาได้ฝึกเลือกวิธีการแก้ปัญหาเองนั้น จะทำให้บุคคลค้นพบว่า ยังมีวิธีการที่เหมาะสมอีกหลายอย่างที่เขาอาจจะเลือกใช้
             3. ควรหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับบุคคลอย่างกะทันหัน ซึ่งจะทำให้บุคคลเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจ ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ควรแจ้งให้ทราบล่วงหน้าอย่างชัดเจนในทันที และถ้าเป็นไปได้ ไม่ควรให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันเกิดขึ้น
             4. การมีตัวแบบที่ดีและมีประสิทธิภาพในการเผชิญ เนื่องจากตัวแบบมีอิทธิพลต่อความรู้สึกมั่นคงของบุคคล ตัวแบบจึงควรมีความเชื่อมั่น และให้การสนับสนุนบุคคลสามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในการเผชิญปัญหาอย่างมั่น ใจ และให้กำลังใจว่าเขาสามารถที่จะประสบความสำเร็จได้ในการเผชิญปัญหาด้วยตัว เอง
             5. ช่วยให้บุคคลพัฒนาวิธีการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ โดยให้เขาได้ระบายความขุ่นมัว ซึ่งจะเป็นโอกาสให้เขาได้ค่อย ๆ เข้าใจความยุ่งยากในตนเอง ช่วยลดระดับความเครียด จากนั้นบุคคลจะค่อย ๆ ใส่ใจกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตนเอง
             6. ให้ความสำคัญกับการนับถือตนเองของบุคคลนั้น เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งในการที่จะแก้ปัญหา
             7. สนับสนุนให้ผู้ใกล้ชิดมีความรู้ความเข้าใจในตัวบุคคลนั้น และให้ความร่วมมือในการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการที่จะแก้ปัญหา
             สรุปได้ว่า การพัฒนาการเห็นคุณค่าในตนเองสามารถส่งเสริมได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การให้การยอมรับในตนเองให้สอดคล้องกับความจริงของตน การสร้างความมั่นใจในตนเอง การสร้างความรับผิดชอบและความสำเร็จให้เกิดขึ้น และบันทึกความสำเร็จที่ได้รับ ซึ่งในการวิจัยในครั้งนี้ ผู้วิจัยได้นำหลักการการเห็นคุณค่าในตนเองในการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อสร้างให้เกิดความรู้สึกรักและภาคภูมิในสิ่งที่ทำและผลของการกระทำของตน เอง

บรรณานุกรม

เอกสิทธิ์ สนามทอง. ว่าที่ร้อยตรี.  (2552). การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฉันทะทางการเรียนของนักศึกษาสถาบันอุดม ศึกษาเอกชนในเขตกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคำแหง

สุพัตรา ทาวงศ์. (2007). การพัฒนาคุณค่าในตนเอง. ค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2552, จาก http://dllibrary.spu.ac.th:8080/dspace/

Brooks, R. B. (1992). Self-esteem during the school years: Its normal development and hazardous decline. Pediatric Clinics of North America, 39, 537-550

สืบค้นเมื่อ วันที่ 9 สิงหาคม 2554

ที่มา http://www.idis.ru.ac.th